ผลสำรวจเผยรัฐควรใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นมากที่สุด แต่ควรคำนึงถึงความจำเป็น และผลกระทบภาพลักษณ์ประเทศ

มาตรา 44 ถือเป็นเครื่องมือสำคัญประเภทหนึ่ง ที่รัฐบาลในปัจจุบันได้นำมาใช้ในการบริหารประเทศ รวมถึงใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องทั้งภาคธุรกิจ ภาคสังคม และอื่นๆ โดยมีประโยชน์ในด้านความรวดเร็วในการบริหารจัดการเมื่อมีการใช้มาตรา 44 เป็นตัวกำกับ ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสเกิดผลกระทบด้านลบได้ หากมีการใช้อย่างไม่ระมัดระวัง

ไอเอฟดี ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,183 คน ทุกภูมิภาคทั่วประเทศว่า รัฐควรใช้มาตรา 44 เป็นเครื่องมือในการจัดการกับเรื่องใดมากที่สุด โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก พบว่า ประชาชนคิดเห็นว่า รัฐควรใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นมากที่สุด อันดับ 2 คือใช้ในการสร้างความมั่นคงของประเทศ และการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นอันดับ 3 ตามลำดับ

และเมื่อถามประชาชนเพิ่มเติมว่ารัฐควรต้องระวังในการใช้มาตรา 44 ในประเด็นใดบ้าง พบว่า ประชาชนคิดเห็นว่ารัฐควรระวังการใช้มาตรา 44  โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย พบว่าอันดับ 1 คือควรพิจารณาความจำเป็นในการใช้มาตรา 44  โดยไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ อันดับ 2 ควรคำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยอาจเป็นไปในเชิงเผด็จการ อันดับ 3 การกระทบหรือริดรอนสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่เกี่ยวข้อง อันดับ 4 ความไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือคู่กรณี และอันดับ5 การจำกัดบทบาทสื่อมวลชน ทำให้ไม่สามารถเผยแพร่ข่าวบางด้านได้

จากผลการสำรวจ และข้อควรระวังที่ประชาชนเป็นกังวลเหล่านี้ รัฐควรคำนึงถึงและวางแผนกำหนดขอบเขตในการใช้มาตรา 44 เพื่อเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อการบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยควรพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้มาตรา 44 กับเรื่องต่างๆอย่างรอบคอบ และควรคำนึงถึงภาพลักษณ์ของไทย อาจถูกมองไปในเชิงเผด็จการ ดังนั้น เมื่อจะใช้มาตรา 44 กำกับดูแลในเรื่องใด รัฐควรสื่อสารกับประชาชนในสังคมและผู้เกี่ยวข้องให้ชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีและมีส่วนช่วยให้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนให้ได้มากที่สุด

ผลสำรวจเดือนมีนาคม 2560

Comments (0)
Add Comment