เท่อินเด็กซ์พลัส ชี้ภาคประชาชนและภาคเอกชนมีประสิทธิผลในการดำเนินงานในเกณฑ์ดี คอรัปชั่นยังเป็นปัญหาใหญ่สุดทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) แถลงข่าว ผลการจัดทำ “ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทยพลัส (Thailand Effectiveness Index Plus)” ประจำไตรมาส 1 ปี 2561 ซึ่งเป็นดัชนีผสม (composite index) ที่แสดงประสิทธิผลการดำเนินงานของ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยจำแนกเป็นประสิทธิผลด้านต่างๆ ได้แก่ การเข้าถึงประชาชน การตอบสนองประชาชน ความเป็นมืออาชีพ ประสิทธิภาพการดำเนินงาน การสร้างพันธมิตร ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการปลอดคอร์รัปชั่น ดัชนีดังกล่าวนำข้อมูลมาจากการสำรวจการรับรู้ (perception) ของประชาชนที่มีต่อการดำเนินงานของ 3 ภาคส่วน โดยสุ่มตัวอย่างประชาชนจำนวน 3,528 ตัวอย่าง กระจายตัวในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ในภาพรวม ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทยพลัสประจำไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ 70.0% เพิ่มขึ้น 3.42% จากไตรมาสที่แล้ว โดยภาคที่ได้คะแนนประสิทธิผลสูงสุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ โดยได้คะแนน 71.9%, 71.8% และ 66.3% ตามลำดับ ด้านที่ได้คะแนนประสิทธิผลสูงสุด ได้แก่ ความสามารถในการเข้าถึงประชาชน และการตอบสนองประชาชน โดยได้คะแนน 71.1% และ 70.8% ตามลำดับ ในขณะที่ด้านที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ การปลอดคอร์รัปชั่น และความรับผิดรับชอบ โดยได้คะแนน 67.2% และ 68.8% ตามลำดับ

สาเหตุที่ทำให้ความสามารถในการเข้าถึงประชาชนได้คะแนนมากที่สุด เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าองค์กรภาคประชาชนช่วยเหลือดูแลคนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง และสามารถเข้าถึงบริการของภาคประชาชนได้สะดวก รวมถึงประชาชนสามารถหาซื้อสินค้า/รับบริการจากภาคธุรกิจได้สะดวกและครบถ้วนตามต้องการ ความคิดเห็นดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์ตรงและทัศนคติของประชาชน โดยมีประชาชนร้อยละ 70.8 ที่มีความคิดเห็นดังกล่าว

สาเหตุหลักที่ทำให้ประสิทธิผลด้านการปลอดคอร์รัปชั่นต่ำสุด เนื่องจากประชาชนไม่เชื่อมั่นว่าภาครัฐทั้งนักการเมืองและข้าราชการจะไม่คอร์รัปชั่น และไม่เชื่อมั่นว่าภาคเอกชนจะทำธุรกิจโดยไม่คอร์รัปชั่น โดยความคิดเห็นดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับข้อมูลข่าวสารและทัศนคติของประชาชน โดยมีสัดส่วนประชาชนร้อยละ 71.6 ที่มีความคิดเห็นดังกล่าว สาเหตุสำคัญที่ทำให้คะแนนประสิทธิผลด้านความรับผิดรับชอบต่อสังคมอยู่อันดับรองสุดท้าย เนื่องจากประชาชนเห็นว่าภาครัฐยังไม่มีการเยียวยาที่เหมาะสมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากดำเนินงานหรือนโยบายของรัฐ โดยความคิดเห็นดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากจากการได้รับข้อมูลข่าวสารและทัศนคติของประชาชน ซึ่งมีสัดส่วนประชาชนร้อยละ 68.0 ที่มีความคิดเห็นดังกล่าว

ผลลัพธ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ควรส่งเสริมภาคประชาชนและภาคเอกชนให้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีประสิทธิผลการดำเนินงานที่ดี มีความใกล้ชิดและเข้าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และยังช่วยลดภาระของภาครัฐในการพัฒนา โดยถ่ายโอนภารกิจที่ภาคประชาชนและภาคเอกชนสามารรถทำได้ รวมทั้งงบประมาณมาสู่ภาคประชาชน และภาคเอกชน และภาครัฐเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้กำกับดูแล อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ นอกจากนี้ยังควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาคอรับชั่น ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน จนทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินของภาครัฐและเอกชน และให้การเยียวยาที่เพียงพอและเหมาะสมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากดำเนินงานหรือนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาชนให้ความสำคัญในปัจจุบัน

จัดทำโดยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา สถาบันฯ ขอขอบคุณบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอ็มพาวเวอร์ริ่ง อินโนเวชั่นส์ จำกัด ผู้ให้การสนับสนุน

2561คอร์รัปชั่นดัชนี
Comments (0)
Add Comment