สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “แบบจำลองจุลภาคของครัวเรือน (Household Microsimulation Model)” ให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีและการจัดสร้างแบบจำลองจุลภาคของครัวเรือน รวมทั้งวิธีการประยุกต์ใช้เครื่องมือดังกล่าว ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า อาคารประชาชื่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
แบบจำลองจุลภาคของครัวเรือนคือ แบบจำลองประเภทดุลยภาพคลุมบางส่วน (partial equilibrium) ที่จำลองพฤติกรรมในระดับปัจเจกของครัวเรือน (individual household) โดยใช้ข้อมูลจุลภาค (micro data) ของครัวเรือน ซึ่งอาจเป็นข้อมูลประชากรของครัวเรือนหรือข้อมูลครัวเรือนตัวอย่างเพื่ออนุมานลักษณะของประชากรครัวเรือน
แบบจำลองมีความสามารถในการจำลองสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมหรือนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นที่มีต่อตัวแปรสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนต่างๆ เช่น รายได้, การบริโภค, การออม, สินทรัพย์, หนี้สิน ฯลฯ โดยส่วนใหญ่จะทำการวิเคราะห์ในลักษณะประเมินไปข้างหน้า (ex-ante assessment) หากนำแบบจำลองไปเชื่อมโยงกับแบบจำลองมหภาค เช่น แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป แบบจำลองเศรษฐมิติมหภาค จะทำให้สามารถวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงหรือนโยบายระดับมหภาคที่มีต่อความยากจน การกระจายรายได้ และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนอื่นๆ
การอบรมนี้ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับโครงสร้างทางทฤษฎีของแบบจำลอง (เช่น พฤติกรรมการบริโภค พฤติกรรมการผลิต (ของครัวเรือนเกษตรกร) พฤติกรรมการออม เป็นต้น) การจัดสร้างแบบจำลองในภาคปฏิบัติ (model implementation) ฐานข้อมูลของแบบจำลองซึ่งใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ทั้งนี้ แบบจำลองนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนที่ได้จากแหล่งอื่น เช่น จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นต้น การอบรมยังครอบคลุมการประยุกต์ใช้งานแบบจำลองในกรณีต่างๆ และการแปลผลลัพธ์ที่ได้จากแบบจำลอง