รูปแบบและการบริหารโดยองค์คณะบุคคลเพื่อกำหนดนโยบาย แผนยุทธศาสตร์เชิงรุก ด้านการศึกษาของประเทศ

ชื่อโครงการ :

รูปแบบและการบริหารโดยองค์คณะบุคคลเพื่อกำหนดนโยบาย แผนยุทธศาสตร์เชิงรุก ด้านการศึกษาของประเทศ

แหล่งทุน :

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปีที่ดำเนินโครงการ :

2551

รายละเอียด :

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของสภาการศึกษา โดยการประเมินและทบทวนสถานะพื้นฐาน โครงสร้าง องค์ประกอบ บทบาทหน้าที่ และการดำเนินงานของสภาการศึกษา รวมทั้งการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมองค์กรทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อช่วยให้ทราบโอกาสและข้อจำกัดสำคัญด้านต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงและมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของสภาการศึกษา โดยใช้การประเมินสมรรถนะและการวิเคราะห์องค์กรเชิงลึกของสภาการศึกษา ร่วมกับการศึกษาเปรียบเทียบแนวคิด หลักการ ทฤษฎี รูปแบบการจัดองค์กร องค์ประกอบ บทบาทหน้าที่ และแนวทางการบริหารงานโดยองค์คณะบุคคลระดับชาติที่บริหารในรูปแบบสภา (Council) หรือคณะกรรมการ (Board) หรือคณะกรรมาธิการ (Commission) จากกรณีตัวอย่างของต่างประเทศ 5 หน่วยงาน และการศึกษาเชิงลึกจากกรณีศึกษาตัวอย่างขององค์คณะบุคคลระดับชาติในประเทศ 5 หน่วยงาน

ส่วนที่ 2 นำเสนอกรณีศึกษาทั้ง 10 หน่วยงาน โดยประเด็นสำคัญที่ได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาเหล่านี้คือ (1) ความยืดหยุ่นในการคัดเลือกและกระบวนการได้มาซึ่งกรรมการ (2) ความเหมาะสมของการมีตัวแทนประเภทต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ (3) จำนวนที่เหมาะสมขององค์คณะบุคคล (4) รูปแบบการดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการที่ทำงานเต็มเวลา (5) การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเพื่อทำหน้าที่บริหารงานในกรณีที่องค์คณะมีขนาดใหญ่มากจนขาดประสิทธิภาพ (6) การกำหนดวันการประชุมที่เจาะจงและสม่ำเสมอ (7) การกำหนดรูปแบบการประชุมที่เปิดโอกาสให้กรรมการได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ (8) การเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นทั้งภายในส่วนราชการและนอกภาครัฐ (9) การเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (10) ความเป็นอิสระในการดำเนินการ (11) กลไกในการเชื่อมโยงจากนโยบายสู่หน่วยปฏิบัติ (12) ประสิทธิผลและสมรรถนะในการดำเนินการของฝ่ายเลขานุการขององค์คณะบุคคล (13) การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ (14) การใช้ระบบงบประมาณเป็นกลไกในการประสานระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เกิดเอกภาพในการดำเนินการ (15) ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองในฐานะของผู้กำหนดนโยบาย/ตัดสินใจกับองค์คณะบุคคล (16) บทบาทของผู้ที่ทำหน้าที่ประธานในการขับเคลื่อนงานขององค์คณะ

ในส่วนที่ 3 เป็นการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกองค์กรเพื่อชี้ให้เห็นโอกาสและอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสภาการศึกษา จากนั้นจึงได้นำเสนอผลการประเมินความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ โดยจำแนกเป็นความคาดหวังที่มีต่อ (1) บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของสภาการศึกษา (2) เนื้อหาสาระของนโยบายหรือข้อเสนอแนะของสภาการศึกษา (3) ความสัมพันธ์ระหว่างสภาการศึกษากับคณะกรรมการต่าง ๆ ภายในกระทรวงศึกษาธิการ (4) ความสัมพันธ์ระหว่างสภาการศึกษากับหน่วยงานภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ และ (5) การจัดองค์กรและการบริหารงานของสภาการศึกษา

ส่วนที่ 4 นำเสนอผลการประเมินสมรรถนะองค์กร การดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรคที่สำคัญของสภาการศึกษา โดยแบ่งการพิจารณาออกเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้ (1) การประเมินภารกิจและบทบาทหน้าที่ (2) การประเมินการจัดองค์การ (3) ความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการสภาการศึกษาและสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (4) ความเชื่อมโยงระหว่างสภาการศึกษากับฝ่ายการเมือง/ฝ่ายนโยบาย (5) ความเชื่อมโยงระหว่างสภาการศึกษากับคณะกรรมการชุดอื่นในกระทรวงศึกษาธิการ (6) ความเชื่อมโยงระหว่างสภาการศึกษากับส่วนราชการนอกกระทรวงศึกษาธิการ (8) ความเชื่อมโยงระหว่างสภาการศึกษากับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ นอกภาครัฐ (9) การประเมินการทำงานของอนุกรรมการ (10) การติดตามและประเมินผล (11) การกำหนดวาระและการกลั่นกรองเรื่องสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาฯ และ (12) ทรัพยากรบุคคลในการสนับสนุนการดำเนินตามภารกิจของสภาการศึกษา

ในส่วนที่ 5 คณะผู้วิจัยได้นำข้อมูลที่ได้จากส่วนที่ 2 – 4 มาประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อให้ทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค และพื้นฐานเชิงสถาบันขององค์กร เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการในเชิงรุกของสภาการศึกษา โดยในส่วนของจุดยืนเชิงกลยุทธ์ของสภาการศึกษา คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอว่า (1) สภาการศึกษาควรเป็นองค์กรนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ (strategic policy body) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา (2) สภาการศึกษาควรเป็นสภาทางความคิด ความรู้ มากกว่าสภาตัวแทนเพื่อการปกป้องผลประโยชน์ (3) สภาการศึกษาควรทำงานเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง แต่ต้องมีความเป็นอิสระในการเสนอความคิดเห็น/นโยบาย และประการสุดท้าย (4) สภาการศึกษาควรทำหน้าที่เชื่อมประสานหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ให้กับการศึกษาของประเทศไทย

สำหรับตัวแบบทางเลือกในการจัดองค์กร ได้มีข้อเสนอให้พิจารณาใน 3 แนวทางด้วยกัน คือ (1) การปรับลดจำนวนและองค์ประกอบขององค์คณะของคณะกรรมการสภาการศึกษา (2) การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการสภาการศึกษา และการจัดให้มีกรรมการที่ทำงานเต็มเวลา หรือ (3) การปรับองค์ประกอบของสภาให้มีผู้แทนจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเต็มเวลาทำหน้าที่บริหารงานของสภาการศึกษา โดยในแต่ละแนวทางต่างมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ซึ่งคณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ไว้ในแต่ละแนวทางแล้ว

ในตอนท้ายของส่วนที่ 5 คณะผู้วิจัยได้เสนอแนวทางในการปรับปรุงรูปแบบการทำงานของสภาการศึกษาในเชิงรุก อาทิ การกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ 4 ปีที่ครอบคลุมระยะเวลาตลอดช่วงการปฏิบัติหน้าที่ของสภาการศึกษาแต่ละชุด การคัดเลือกประเด็นที่สภาการศึกษาจะพิจารณาให้ความเห็น การปรับปรุงองค์ประกอบและหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ การทำงานในลักษณะที่รุกออกไปเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ การจัดการประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษาอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ รวมทั้งการจัดวาระการประชุมอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกับการปรับบทบาทของฝ่ายเลขานุการสภาการศึกษา และสุดท้ายคือการสร้างหลักประกันความเป็นอิสระในการทำงานของสภาการศึกษา

อย่างไรก็ตาม การศึกษาชิ้นนี้ยังประสบกับข้อจำกัดบางประการ ได้แก่ การเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของหน่วยงานที่เป็นกรณีศึกษา ความร่วมมือในการให้ข้อมูลจากอดีตกรรมการสภาการศึกษา การเข้าถึงข้อมูลข้อมูลภายในสภาการศึกษา และระยะเวลาในการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรได้รับการพิจารณาปรับปรุงสำหรับการวิจัยในโอกาสต่อไป