วิเคราะห์รูปแบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาไทยแบบใหม่ : วิธี Monte Carlo Simulation
ชื่อโครงการ :
วิเคราะห์รูปแบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาไทยแบบใหม่ : วิธี Monte Carlo Simulation
แหล่งทุน :
Internal project
ปีที่ดำเนินโครงการ :
2543
รายละเอียด :
การผสมผสานความต้องการของ สสร. ทั้งสายวิชาการและสายจังหวัด ในประเด็นว่าด้วยวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางเจตนารมณ์ของ ส.ว. ไว้ให้เป็นตัวแทนของคนในจังหวัดเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของจังหวัดไม่ให้ได้รับความกระทบกระเทือน และทำให้ผลประโยชน์ของชาติกระจายสู่ทุกจังหวัดอย่างทั่วถึงกัน แนวความคิดหลักของวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้อิงอยู่บนฐานของแนวความคิดกลุ่มผลประโยชน์ โดยมอง ส.ว. เป็นเหมือนตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งในงานศึกษานี้ขอเรียกว่า กลุ่มผลประโยชน์จังหวัด แต่จำนวน ส.ว. ที่แต่ละจังหวัดพึงมีได้ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนจำนวนผู้แทนเทียบกับประชากร จึงทำให้แต่ละจังหวัดไม่สามารถมี ส.ว. ในจำนวนที่เท่ากัน จังหวัดบางแห่งมีตัวแทนมาก จังหวัดบางแห่งมีตัวแทนน้อย ขึ้นอยู่กับฐานประชากรเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตามการได้มาซึ่งตัวแทน ส.ว. ของแต่ละจังหวัด รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในจังหวัด โดยใช้วิธีการลงคะแนนเสียงให้ประชาชนเลือก ส.ว. ได้เพียงคนเดียว แม้ว่าในจังหวัดนั้น ๆ จะมีจำนวนตัวแทนได้มากกว่า 1 คนก็ตาม ปัญหาสำคัญจึงเกิดขึ้นในกรณีที่จังหวัดนั้น ๆ มี คนดัง เข้ามาสมัคร ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่เทคะแนนเสียงของตนให้กับผู้สมัครคนดังอย่างมากมาย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้า ส.ว. ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในเขตเลือกตั้งจังหวัดนั้น ๆ ในสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีคนดังมาสมัคร คะแนนเสียงของประชาชนส่วนใหญ่จึงถูกเบี่ยงเบนไป และยังส่งผลสืบเนื่องเกิดปรากฏการณ์ที่ประชาชนส่วนน้อยกลับมีสิทธิกำหนดตัวแทนของตนได้มากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ ปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นส่งผลให้ตัวแทน ส.ว. ที่ได้รับเลือกไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่อย่างที่ควรจะเป็น วิธีการลงคะแนนที่กำหนดให้กาหมายเลขได้คนเดียวจึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการได้มาซึ่งตัวแทน ส.ว. ของประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดบางแห่ง
งานศึกษาชิ้นนี้จึงได้ออกแบบการทดลองโดยใช้เครื่องมือศึกษาที่เรียกว่าการจำลองสถานการณ์แบบมอนติคาร์โล (Monte Carlo Simulation) เพื่อตรวจดูถึงความเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนของตัว ส.ว. กรณีที่มีคนดังเข้ามาเทียบกับกรณีปกติที่ไม่มีคนดังดึงคะแนนเสียงการเลือกตั้งอย่างล้นหลาม ผลการศึกษาพบว่าการกาได้เพียง 1 หมายเลขจะทำให้สัดส่วนของตัว ส.ว. เปลี่ยนแปลงในอัตราส่วนที่สูง ในขณะที่ยิ่งกาหมายเลขได้มากขึ้นเรื่อย ๆ สัดส่วนการเปลี่ยนแปลงของตัว ส.ว. ยิ่งลดน้อยลงตามลำดับ
จากผลการทดลอง งานศึกษาชิ้นนี้จึงขอนำเสนอ วิธีการลงคะแนนเสียง ส.ว. รูปแบบใหม่ ที่ให้ผู้ลงคะแนนสามารถกาหมายเลขเลือกผู้สมัครได้มากกว่า 1 หมายเลข แต่ไม่เกินจำนวนที่จังหวัดนั้น ๆ พึงมี ส.ว. ได้ ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนแปลงในตัว ส.ว. ลดน้อยลงกรณีที่มีคนดังเข้ามา และยังทำให้ ส.ว. ที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนมีโอกาสได้รับเลือกตั้งมากกว่า อันทำให้ ส.ว. ในจังหวัดนั้น ๆ โดยส่วนใหญ่สะท้อนถึงความเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ได้มากกว่าวิธีการกาหมายเลขได้เพียงหมายเลขเดียว
ถ้าการเลือกตั้ง ส.ว. ในครั้งหน้าจะนำวิธีการใหม่นี้ไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว. จะเป็นไปอย่างง่ายดาย ไม่เกิดความยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพียงมาตราเดียวในประเด็นของวิธีการลงคะแนนเท่านั้น บทบัญญัติอื่น ๆ ยังคงเดิม
ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานศึกษาชิ้นนี้จะเปิดมิติใหม่ทางความคิดในการเลือกตั้ง ส.ว. ไทย เพื่อจุดประกายทางปัญญาให้เกิดการพัฒนารูปแบบการเลือกตั้ง ส.ว. ที่มีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์ของกรอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อให้ ส.ว. ที่ได้รับเลือกทุกคนสะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ อย่างแท้จริง และไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่อง ส.ว. เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นอื่น ๆ ในรัฐธรรมนูญที่จะมีการนำมาพิจารณาเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้งานเขียนชิ้นนี้เป็นแนวทางหนึ่งในการต่อยอดความคิดต่อไป