โครงการวิจัยความต้องการในอนาคตและการพัฒนารูปแบบของระบบบริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิและสูงกว่าใน 15 ปีข้างหน้า

ชื่อโครงการ :

โครงการวิจัยความต้องการในอนาคตและการพัฒนารูปแบบของระบบบริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิและสูงกว่าใน 15 ปีข้างหน้า

แหล่งทุน :

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ปีที่ดำเนินโครงการ :

2553

รายละเอียด :

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) สภาพปัจจุบันของระบบบริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิและสูงกว่าของไทย 2) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดภาพอนาคตของระบบบริการฯ ใน 15 ปีข้างหน้า 3) คาดการณ์ภาพอนาคตของระบบบริการฯ ที่ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคต และ 4) นำเสนอรูปแบบของระบบบริการฯ ที่พึงประสงค์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยระเบียบวิธีวิจัยแบบสหวิธี ได้แก่ 1) การสำรวจและวิจัยเอกสารทั้งในและต่างประเทศ 2) สัมภาษณ์เชิงลึก 56 คน 3) ประชุมเน้นกลุ่มเป้าหมาย 13 คน 4) แบบสอบถามผู้รับบริการทางการแพทย์ 140 คน และ 5) ตัวแบบระบบบริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิและสูงกว่าในต่างประเทศ ได้แก่ ฟินแลนด์ สิงคโปร์ แคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งผลการศึกษา มี 4 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 สภาพปัจจุบันของระบบบริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิและสูงกว่าของไทย

ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในสถานบริการตติยภูมิและสูงกว่าได้มากขึ้น เนื่องจากความครอบคลุมของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาสถานบริการตติยภูมิและสูงกว่าของไทยให้บริการทางการแพทย์ในทุกระดับ มีผู้ป่วยรับบริการจำนวนมาก โรงพยาบาลศูนย์ใช้ทรัพยากรระดับเต็มที่ มีระดับให้บริการเกินกว่าระดับ Unit Cost ต่ำสุด สภาพเครือข่ายส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานบริการระดับต่าง ๆ ขาดประสิทธิภาพ การกระจุกตัวของเทคโนโลยีและแพทย์เฉพาะทางในเขตเมือง Bottom of Form ประชาชนมีต้นทุนสูงในการเข้าถึง บุคลากรแพทย์มีงานหนักไหลสู่เอกชน และความขัดแย้งระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการรุนแรงขึ้น

พฤติกรรมของประชาชนในการเลือกรับบริการทางการแพทย์ในสถานบริการปฐมภูมิและทุติยภูมิ พบว่า ผู้รับบริการที่อาศัยในพื้นที่นอกเขตเมือง รับบริการจากสถานีอนามัยเป็นหลัก รองลงมา คือ ร้านขายยาและโรงพยาบาลอำเภอ ส่วนผู้รับบริการในเขตเมือง จะรับบริการที่สถานีอนามัยน้อยมาก ส่วนใหญ่จะรับบริการที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงเรียนแพทย์ คลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนั้นพฤติกรรมประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ารับบริการในสถานบริการตติยภูมิและสูงกว่านั้น จะไม่ใช้บริการผ่านเครือข่ายส่งต่อผู้ป่วยจากสถานบริการระดับต้นสู่สถานบริการระดับสูงขึ้น และจะไม่ใช้บริการส่งต่อผู้ป่วยจากสถานบริการระดับตติยภูมิและสูงกว่ากลับไปรักษาต่อเนื่องที่สถานบริการระดับต้นใกล้บ้าน

ส่วนที่ 2 การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการคาดการณ์ภาพอนาคต

  • ปัจจัยแนวโน้มที่มีผลต่อภาพอนาคตของระบบบริการทางการแพทย์ตติยภูมิและสูงกว่า

ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แนวโน้มปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชากร ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและโลก ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการแพทย์และเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสาธารณสุข ไทยต้องพึ่งพาและนำเข้าเทคโนโลยีการแพทย์จากต่างประเทศสูงขึ้น บทบาทการเมืองต่อการสาธารณสุข การกระจายอำนาจสาธารณสุขสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนามาตรฐานการให้บริการ การเป็นสถานบริการในกำกับของรัฐ การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้รับบริการของระบบหลักประกันสุขภาพ นโยบายไทยเป็น Medical Hub การขาดแคลนแพทย์และพยาบาลวิชาชีพ การขยายตัวและแข่งขันของสถานบริการเอกชน การแข่งขันของกลุ่มบริษัทยาและเทคโนโลยีการแพทย์ กระแสสิทธิมนุษยชน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความเข้มแข็งของสถานบริการปฐมภูมิและทุติยภูมิ ความสำเร็จในการประเมินเทคโนโลยีการแพทย์ไทย การบริหารทรัพยากรในภาพรวมของระบบบริการฯ  วิกฤตเศรษฐกิจ และก่อการร้าย

  • ความต้องการ/ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อระบบบริการทางการแพทย์ระดับ

ตติยภูมิและสูงกว่าใน 15 ปี ข้างหน้า

ด้านนโยบาย โครงสร้างและการบริหาร ได้แก่ การให้สถานบริการตติยภูมิและสูงกว่ามุ่งบริการทางการแพทย์ตติยภูมิชั้นสูงเป็นหลัก มีเจ้าภาพกำหนดทิศทางและบริหารในภาพรวมของระบบบริการตติยภูมิและสูงกว่า สถานบริการปฐมภูมิและทุติยภูมิเข้มแข็ง มีฐานข้อมูลใช้ตัดสินใจเชิงนโยบาย กำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าสถานบริการของรัฐแต่ละระดับจะให้บริการทางการแพทย์ใด การมีส่วนร่วมของภาคีอื่น

ด้านระบบกำลังคนด้านสุขภาพ ได้แก่ มีแพทย์ประจำสถานบริการปฐมภูมิทุกแห่ง มีบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางเพียงพอและมีคุณภาพ มีระบบความก้าวหน้าในอาชีพที่ชัดเจนของบุคลากร มีระบบบริหารคล้ายภาคเอกชนหรือสถานบริการในกำกับของรัฐ

ด้านระบบเทคโนโลยีการแพทย์ ได้แก่ มีระบบประเมินเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน กำหนดนโยบาย กลไกและแนวทางกำกับการใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการประเมิน จัดตั้ง Office of Technology Assessment ในรัฐสภา และพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศทางการแพทย์ที่ทันสมัยเชื่อมต่อทั่วประเทศ

ด้านระบบการเงินและการคลังด้านสุขภาพ การพัฒนาระบบการจ่ายเงินที่เป็นธรรมตามต้นทุนจริงจากระบบประกันสุขภาพสู่สถานบริการระดับตติยภูมิและสูงกว่า ให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมจ่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีความสามารถจ่าย หรือกรณีผู้ป่วยมีความต้องการหรือประสงค์ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ที่ราคาแพงเกินความจำเป็น และมีระบบบริหารจัดการด้านการเงินการคลังที่โปร่งใส

ด้านระบบวิจัยและพัฒนา การมีระบบส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ให้พัฒนางานวิจัยการแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ เชื่อมต่อฐานข้อมูลวิจัยด้านการแพทย์ ทั้งในและต่างประเทศ และการมีโครงการวิจัยทดแทนเทคโนโลยีการแพทย์จากต่างประเทศ

ด้านระบบการคุ้มครองผู้บริโภค มีระบบกลไกขับเคลื่อนให้สถานบริการตติยภูมิและสูงกว่ามีมาตรการคุ้มครองผู้รับบริการ มีโครงสร้างและวิธีคัดเลือกคณะกรรมการในแพทย์สภาที่ให้ภาคส่วนอื่นเข้าร่วม มีการรวมกลุ่มผู้บริโภคที่เข้มแข็ง การพัฒนากระบวนการฟ้องร้อง ตัดสิน ดำเนินคดี และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจัดทำกรณีศึกษาคดีฟ้องร้องระบบสาธารณสุขในต่างประเทศ

ความต้องการด้านระบบองค์ความรู้และข้อมูลด้านสุขภาพ มีฐานทะเบียนข้อมูลผู้ป่วยเชื่อมต่อทั่วประเทศ  มีระบบกลไกตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพกลั่นกรองข้อมูลสุขภาพเพื่อให้ข้อมูลที่ทันสมัย คุ้มครองและเตือนภัยผู้บริโภค มีฐานข้อมูลและองค์ความรู้การแพทย์ตติยภูมิชั้นสูงเป็นระบบ

ส่วนที่ 3 ภาพอนาคตของระบบบริการระดับตติยภูมิและสูงกว่าใน 15 ปีข้างหน้า ผลการศึกษาได้ 4 ฉากทัศน์หลักที่มีผลกระทบระดับสูงต่อระบบบริการสาธารณสุขไทย

1)  Monkey on business เป็นภาพอนาคตที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน (Probable scenario) คือ ภาพระบบบริการตติยภูมิและสูงกว่า มุ่งให้บริการทางการแพทย์ทุกระดับในขณะที่ระบบบริการปฐมภูมิและทุติยภูมิยังไม่เข้มแข็ง ภาพหลักของฉากทัศน์นี้ คือ สถานบริการตติยภูมิและสูงกว่ามีผู้รับบริการจำนวนมาก จะกระทบคุณภาพและประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรสาธารณสุข

2) Bee on the job เป็นภาพอนาคตที่ถึงประสงค์ (Preferable scenario) คือ ระบบบริการระดับตติยภูมิและสูงกว่า มุ่งให้บริการระดับตติยภูมิ และมีระบบบริการปฐมภูมิและทุติยภูมิที่เข้มแข็ง ภาพหลักของฉากทัศน์นี้ คือ สถานบริการทางการแพทย์แต่ละระดับให้บริการตามภารกิจ ประชาชนรับบริการในสถานบริการใกล้บ้านตามระดับความเจ็บป่วย สถานบริการตติยภูมิและสูงกว่าให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง พัฒนางานวิจัยและวิชาการที่มีคุณภาพ และเป็นแหล่งอ้างอิงวิชาการทางการแพทย์

3) Snail in ICU เป็น เป็นภาพอนาคตที่แย่ที่สุด (Worst possible scenario) คือจะเกิดวิกฤตบริการทางการแพทย์สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ วิกฤตความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในสถานบริการระดับตติยภูมิและสูงกว่าของรัฐ วิกฤตการฟ้องร้องผู้ให้บริการทางการแพทย์ วิกฤตความล้มเหลวของระบบประเมินเทคโนโลยีการแพทย์ไทย วิกฤตคอร์รัปชั่นในระบบบริการการแพทย์ วิกฤตเศรษฐกิจกระทบระบบบริการระดับตติยภูมิและสูงกว่า และวิกฤตผลกระทบจากนโยบายไทยเป็น medical hub

4) Athlete in the Arena เป็นภาพอนาคตที่ดีที่สุด (Best possible scenario) คือ ไทยเป็นเลิศด้านให้บริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิชั้นสูงในสาขาที่ไทยแกร่ง และไทยเป็น Medical Hub อันดับหนึ่งแห่งเอเซีย โดยสถานบริการของรัฐระดับตติยภูมิและสูงกว่ามีส่วนในการให้บริการร่วมด้วย 

ส่วนที่ 4 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1) ข้อเสนอแนะกรณี Probable Scenario ได้แก่ จัดตั้งหน่วยบริหารทรัพยากรภาพรวมของระบบบริการตติยภูมิและสูงกว่า จัดลำดับความสำคัญการให้บริการทางการแพทย์ตติยภูมิชั้นสูง ผลักดันให้เป็นสถานบริการในกำกับของรัฐ พัฒนาเครือข่ายของระบบบริการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง พัฒนานวัตกรรมให้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพบริหารบุคลากร จัดตั้งสถาบันวิจัยด้านสุขภาพและค้นคว้าการแพทย์เป็นองค์กรมหาชน พัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภค พัฒนาระบบฐานข้อมูลองค์ความรู้และข้อมูลด้านสุขภาพแก่ประชาชน และระดมทรัพยากรภาคสังคมสู่ระบบบริการตติยภูมิชั้นสูง

2) ข้อเสนอแนะกรณี Probable Scenario เป็น Preferable Scenario ได้แก่ จัดตั้งคณะกรรมการและหน่วยพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิชั้นสูง พัฒนามาตรฐานระบบบริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิชั้นสูงเทียบเท่าระดับสากล และพัฒนาสถานบริการทางการแพทย์ตติยภูมิและสูงกว่าเป็นแหล่งอ้างอิงการแพทย์ของประเทศ

3) ข้อเสนอแนะกรณี Worst Possible Scenario ได้แก่ ลดผลกระทบจากภาวะขาดแคลนแพทย์และพยาบาลในสถานบริการตติยภูมิและสูงกว่าของรัฐ พัฒนาระบบให้บริการทางการแพทย์สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุครบวงจร ชดเชยผลกระทบจาก Medical Hub และพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ตติยภูมิและสูงกว่าบนฐานเศรษฐกิจกระแสกลาง

4) ข้อเสนอแนะกรณี Best Possible Scenario ได้แก่ พัฒนาไทยเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทางที่เป็นจุดแกร่ง และผลักดันไทยเป็น Medical Hub อันดับหนึ่งแห่งเอเซีย โดยสถานบริการระดับตติยภูมิและสูงกว่าเป็นแกนสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ชั้นสูง