ผลสำรวจความเห็นต่อโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

ตลอดปี 2559 รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้กำหนดนโยบายหลากหลายรูปแบบในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย อาทิ โครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ ทั้งช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกร โครงการบ้านประชารัฐ โดยร่วมกับธนาคารต่างๆเพื่อช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถกู้สินเชื่อบ้านในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก และล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี อนุมัติงบช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 8.3 ล้านราย ที่รัฐจัดสรรงบประมาณให้ 19,290 ล้านบาท

ไอเอฟดี ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,188คน เกี่ยวกับความเห็นต่อโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ว่าประชาชนมีความคิดเห็นไปในทิศทางใดเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว

ผลการสำรวจพบว่า พบว่าประชาชนเห็นด้วยกับโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ดังกล่าวถึงร้อยละ 85.6% โดย 55.1% ของกลุ่มที่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับการดูแลช่วยเหลือ ส่วนอีก 31.6% มีความคิดเห็นว่าโครงนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้การดูแลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริง และอีก 12.7% ให้เหตุผลว่าจะทำให้ใช้จ่ายมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น สำหรับในกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วย 14.4% ให้เหตุผลว่า วิธีนี้ไม่สามารถช่วยคนจนได้อย่างยั่งยืน บางส่วนมองว่าเป็นการใช้งบประมาณประเทศอย่างไม่เหมาะสม และบางส่วนเห็นว่าเป็นการหาเสียง สร้างคะแนนนิยม

ไอเอฟดี ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเชื่อมั่นว่า การจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือในครั้งนี้ เงินจะถึงมือผู้มีรายได้น้อยได้จริงหรือไม่ โดยผลสำรวจพบว่า 48.8% มีเชื่อว่างบประมาณจะไปถึงกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยได้ อีก 42.8% ให้ความเห็นว่าไม่น่าจะไปถึงกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยได้จริง และบางส่วนยังคงกังวลและไม่แน่ใจอีก 8.4%

ทั้งนี้ ไอเอฟดี มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐ ในการจัดสรรงบฯช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ดังนี้

  1. ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงโครงการจัดสรรเงินช่วยเหลือฯ ผ่านการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยว่า โครงการนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างไร เนื่องจาก ประชาชนส่วนหนึ่งยังรับรู้ว่าโครงการฯช่วยเหลือที่ผ่านมาในอดีตนั้น เงินจากรัฐมักถูกจัดสรรตาม “ดุลยพินิจ” ของผู้มีอำนาจในชุมชน และขั้นตอนการจ่ายเงินของภาครัฐมีความซับซ้อน อาจล่าช้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเปิดช่องให้มีการคอร์รัปชั่นได้ง่าย จนทำให้เม็ดเงินไปถึงคนยากจนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และคนจนตัวจริงเข้าไม่ถึงแหล่งเงินช่วยเหลือที่รัฐจัดสรร
  2. ควรมีกระบวนที่ชัดเจนในการตรวจสอบว่าเงินช่วยเหลือได้เข้าถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่แท้จริง โดยต้องบูรณาการฐานข้อมูลของภาครัฐและเอกชนบางส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อตรวจสอบให้ได้ว่าผู้ที่มาลงทะเบียนเป็นผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการให้ช่วยเหลือจริง เพื่อสร้างความมั่นใจและเชื่อถือกับประชาชนที่มีต่อโครงการนี้
  3. ควรกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ ผู้ที่ขาดความสามารถในการหารายได้ เช่น คนสูงวัย ผู้พิการ ฯลฯ และกลุ่มคนจนแต่ยังมีความสามารถหารายได้ โดยคนกลุ่มแรก รัฐบาลควรช่วยเหลือโดยตรงแบบให้เปล่าตามความจำเป็นในการดำรงชีพ ส่วนกลุ่มที่ยังสามารถทำงานได้ ควรให้เงินอุดหนุนแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อจูงใจให้คนจนพยายามทำงานมากขึ้น เพื่อที่จะได้รับเงินอุดหนุนในอัตราที่สูงขึ้นได้
  4. ควรมีมาตรการส่งเสริมอาชีพให้แก่คนยากจนควบคู่ไปกับการให้การอุดหนุนเงินโดยตรง เพราะการให้เงินเป็นเพียงการช่วยเหลือระยะสั้น รัฐบาลต้องมีมาตรการระยะยาว เพื่อส่งเสริมให้คนยากจนมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น และไม่จนเรื้อรัง จนเป็นกลุ่มที่ต้องรอรับการช่วยเหลืออยู่ตลอดไป

ผลสำรวจเดือนธันวาคม 2560

Leave A Reply

Your email address will not be published.