ผลสำรวจเผยคนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้และกู้ยืม เสนอรัฐช่วยกำกับ พร้อมออกมาตรการจูงใจออมเงิน

คำว่า “คนไทยเกิดมาพร้อมหนี้สินติดตัว” เป็นคำที่ไม่เกินความเป็นจริง เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมา ระดับหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากพบว่า “คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและนานขึ้น” โดยเฉพาะคนไทยในกลุ่มช่วงอายุปลาย 20 ปี ถึงต้น 30 ปี เป็นกลุ่มที่มีหนี้เพิ่มขึ้นเร็ว จนเป็นหนี้อยู่ในระดับค่อนข้างสูง และระดับหนี้ไม่ลดลงแม้เข้าสู่วัยใกล้เกษียณ  และปัจจุบัน ค่ากลาง (Median) ของหนี้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท  โดยส่วนนี้ยังไม่รวมหนี้ที่อยู่นอกฐานข้อมูลเครดิตบูโร เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือหนี้นอกระบบ อีกทั้งคนไทยรุ่นใหม่มีหนี้เสียในอัตราที่สูง มีคนช่วงอายุ 29 ปีที่มีหนี้ เป็นหนี้เสียมากถึง 1 ใน 5 คน ซึ่งการขาดสภาพคล่อง มักมีความเครียด กระทบต่อผลิตภาพในการทำงาน

ไอเอฟดี สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,127 คน ทุกภูมิภาคทั่วประเทศเกี่ยวกับสภาพคล่องในการใช้จ่ายและสิ่งที่อยากให้รัฐช่วย ผลสำรวจสภาพคล่องในการใช้จ่าย เมื่อเรียงลำดับจากมากไปน้อยพบว่า ประชาชนมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ จึงมีหนี้สินร้อยละ 61.3 รองลงมาคือ รายได้พอดีกับรายจ่ายแต่ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน และอันดับ 3 คือรายได้มากกว่ารายจ่ายแต่ชักหน้าไม่ถึงหลังในแต่ละเดือน

เมื่อสอบถามประชาชนว่า หากขาดสภาพคล่องท่านจะจัดการอย่างไร พบแนวทางจัดการ 4 อันดับแรก โดยอันดับ 1 คือกู้ยืม ถึงร้อยละ 75.4 โดยกู้ยืมจากธนาคารมากที่สุด รองลงมาคือ กู้ยืมจากคนในครอบครัว/ญาติ อันดับ 2 คือ ลดรายจ่าย อันดับ 3 คือ หารายได้เสริม/ ทำอาชีพเสริม และอันดับสุดท้าย คือกู้นอกระบบ

และเมื่อสอบถามเพิ่มเติมว่า อยากให้รัฐช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินอย่างไร พบว่าต้องการให้ช่วยเหลือ 4 อันดับแรก ดังนี้ อันดับ 1 อยากให้รัฐช่วยพัฒนาทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ อันดับ 2 ให้ความรู้ด้านบริหารจัดการการเงินและลงทุน อันดับ 3 ให้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่สามารถเข้าถึงได้ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยอมรับได้คือ ร้อยละ 2.4 ต่อปี และอันดับ 4 การใช้มาตรการจูงใจให้ออมเงินมากขึ้น

ปัจจุบัน คนไทยมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย เพราะมีหนี้สิน เกิดจากหลายปัจจัยที่มีผล ทั้งกระแสบริโภคนิยม การผ่อนสินค้าต่างๆ  การนำเงินล่วงหน้าในอนาคตมาใช้ ขาดความรู้ในการบริหารจัดการการเงินและลงทุน ฯลฯ และเมื่อเข้าสู่วงจรการเป็นหนี้แล้ว บางกลุ่มพยายามหาทางออกได้ แต่บางกลุ่มกลับมีหนี้สินล้นพ้นตัวกับสถาบันการเงินหลายแห่ง และบางส่วนติดเข้าสู่การกู้หนี้นอกระบบ จนทำให้ยากที่จะหาทางออกได้

จากผลการสำรวจ ประชาชนอยากให้รัฐให้ความสำคัญและช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยช่วยเหลือในการพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ การให้ความรู้ในการวางแผนและบริหารจัดการการเงินและการลงทุน ซึ่งคนไทยยังมีความรู้ในเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก รวมถึงขอรัฐช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ โดยอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2.4 ต่อปี และการออกมาตรการจูงใจในการออมเงินไว้ยามฉุกเฉินและยามเกษียณอายุ หากแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ได้ จะมีส่วนทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงินของแต่ละบุคคลและส่งผลต่อภาพรวมสถานะทางการเงินของประเทศที่ดีขึ้นในระยะยาวได้

ผลสำรวจเดือนตุลาคม 2560

Leave A Reply

Your email address will not be published.