หมวดการคิด

หลักสูตรการคิด 10 มิติ (10 Dimensions Thinking)

กุญแจสำคัญที่ทำให้หลายองค์กรประสบความสำเร็จคือศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวบุคลากร ศักยภาพดังกล่าวเป็นผลมาจากความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบ สามารถบรรลุเป้าหมายที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร ศักยภาพทางความคิดเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ หากได้รับความรู้และมีความเข้าใจลักษณะการคิดในมิติต่างๆ รวมทั้งได้เรียนรู้เทคนิคที่เหมาะสม

สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ได้ออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมในชื่อชุด “การคิดสิบมิติ” ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพ และทักษะด้านการคิดของบุคลากรในหน่วยงานองค์กรต่างๆ หลักสูตรนี้เป็นผลงานจากประสบการณ์ของ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์  นักคิด นักเขียนผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ท่านได้นำเสนอหลักการและวิธีคิดใน 10 รูปแบบ ที่ครอบคลุมการคิดอย่างรอบด้านและครบถ้วน เพื่อการประยุกต์ใช้ในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เข้ารับการฝึกอบรมและต่อองค์กรโดยตรง

หลักสูตรการคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking)

การคิดเชิงมโนทัศน์เป็นมิติของการคิดที่ช่วยในการคิดรวบยอดที่เรามีต่อการคิดใดการคิดหนึ่ง เป็นผลมาจากการถูกปรุงแต่งของชีวิต การคิดเชิงมโนทัศน์ในแต่ละเรื่องขึ้นกับสิ่งที่มีอิทธิพลในการก่อร่างการคิดแต่ละเรื่องนั้นด้วย ทำให้มโนทัศน์ของเรามีความจำกัด และบางครั้งทำให้เราไม่สามารถตีความมโนทัศน์ที่แตกต่างได้ หรืออาจทำให้เราวินิจฉัยแก้ไขสิ่งต่างๆ ผิดพลาดได้

หลักสูตร “การคิดเชิงมโนทัศน์” จึงถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมฝึกทักษะความสามารถในการประสานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้อย่างไม่ขัดแย้ง แล้วนำมาสร้างเป็นความคิดรวบยอดหรือกรอบความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น จึงนับได้ว่าการคิดเชิงมโนทัศน์เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการคิดแบบอื่นๆ ต่อไป

หลักสูตรการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)

การคิดเชิงกลยุทธ์ช่วยเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ ช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะประเมินจุดอ่อนและ    จุดแข็งของตนเองและคู่แข่งขัน ความได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อกำหนดทางเลือกเชิงกลยุทธ์ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุดตามเป้าหมายที่วางไว้

หลักสูตร “การคิดเชิงกลยุทธ์” จึงถูกออกแบบมาเพื่อฝึกทักษะความสามารถในการกำหนดแนวทางที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไข ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

หลักสูตรการคิดเชิงบูรณาการ (Integrative Thinking)

การคิดเชิงบูรณาการเป็นการคิดบนฐานความเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุผลสัมพันธ์กัน ดังนั้นในการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงจำเป็นต้องมององค์ประกอบแวดล้อมให้รอบด้าน ทำให้เรามองเห็นภาพทั้งภาพ เข้าใจบริบททั้งหมด ไม่ตกหล่นในประเด็นสำคัญๆ ทำให้เกิดความเข้าใจและตัดสินใจไม่ผิดพลาด

หลักสูตร “การคิดเชิงบูรณาการ” จึงถูกออกแบบมาเพื่อฝึกทักษะความสามารถในการเชื่อมโยงแนวคิดหรือองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าหาแกนหลักได้อย่างเหมาะสม เพื่ออธิบายหรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การคิดเชิงบูรณาการจึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เรามองเรื่องๆเดียวได้อย่างครบถ้วนทุกมุม

หลักสูตรการคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis-Type Thinking)

การคิดเชิงสังเคราะห์สามารถนำสิ่งที่คนอื่นคิดหรือได้ปฏิบัติมาแล้วมาใช้ประโยชน์ได้ คนที่คิดเชิงสังเคราะห์เป็นและเร็วกว่าย่อมได้เปรียบ เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่สังเคราะห์เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ได้มากกว่า ทำให้เราก้าวเข้าสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง สังคมและประเทศชาติ

หลักสูตร “การคิดเชิงสังเคราะห์” จึงถูกออกแบบมาเพื่อฝึกทักษะความสามารถในการดึงองค์ประกอบต่างๆมาผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้สิ่งใหม่ ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

หลักสูตรการคิดเชิงอนาคต (Futuristic Thinking)

การคิดเชิงอนาคตจะช่วยให้เราเข้าใจภาพปัจจุบันและคาดการณ์ภาพอนาคตได้ ช่วยให้เราขยายขอบเขตการมองออกไปรอบๆ ตัวเรา  มีสิ่งใดเกิดขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อเราหรือองค์กรอย่างไร เพื่อจะได้เตรียมพร้อมในการรับมือได้อย่างดี

หลักสูตร “การคิดเชิงอนาคต” จึงถูกออกแบบมาเพื่อฝึกทักษะความสามารถในการคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม

หลักสูตรการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking)

การคิดเชิงวิเคราะห์ เปรียบเหมือนการเห็นผลลัพธ์ของบางสิ่งแล้ว ไม่ด่วนสรุปทันทีว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่พยายามหาข้อเท็จจริง วิเคราะห์ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยๆ ต่างๆ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกระจ่าง ก่อนที่จะสรุปสิ่งนั้น

หลักสูตร “การคิดเชิงวิเคราะห์” จึงถูกออกแบบมาเพื่อฝึกทักษะความสามารถในการจำแนกแจกแจงองค์ประกอบต่างๆของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น

หลักสูตรการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)

การคิดเชิงวิพากษ์ เป็นกระบวนการคิดที่มีเป้าหมายโดยผ่านกระบวนการกลั่นกรองทางความคิดเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า ถูกต้องเหมาะสมกับบริบทแวดล้อมมากกว่า ที่สำคัญคือเกิดผลดีต่อชีวิต องค์กรและสังคมส่วนรวมมากกว่า

หลักสูตร “การคิดเชิงวิพากษ์” จึงถูกออกแบบมาเพื่อฝึกทักษะการคิดที่ตั้งใจที่จะพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยการไม่เห็นคล้อยตามข้อเสนออย่างง่ายๆ แต่ตั้งคำถามท้าทายหรือโต้แย้งข้อสมมตินั้น เพื่อเปิดแนวทางความคิดออกสู่ทางต่างๆ ที่แตกต่าง อันจะนำไปสู่การแสวงหาคำตอบที่สมเหตุสมผลมากกว่าข้อเสนอเดิม

หลักสูตรการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

การคิดเชิงสร้างสรรค์ เป็นการคิดที่ช่วยให้เกิดนวัตกรรม เกิดการแก้ปัญหาด้วยแนวทางใหม่ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านตัวบุคคลและองค์การ เป็นการเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ การคิดสร้างสรรค์ได้นั้นมิได้ขึ้นอยู่กับพรสวรรค์เพียงอย่างเดียว ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถฝึกฝนได้และพัฒนาการใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้

หลักสูตร “การคิดเชิงสร้างสรรค์” จึงถูกออกแบบมาขึ้นเพื่อฝึกทักษะในการขยายขอบเขตความคิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ไปสู่ความคิดใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น

หลักสูตรการคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thinking)

การคิดเชิงเปรียบเทียบในลักษณะวิเคราะห์ข้อมูลจะช่วยลดข้อผิดพลาดของการอ้างเหตุผลและทำให้การตัดสินใจเลือกถูกต้องมากขึ้น การคิดเปรียบเทียบในลักษณะอุปมา จะช่วยทำให้เรื่องยากและซับซ้อนเข้าใจได้ง่ายขึ้น การตรวจสอบความจริง การตัดสินใจ การอธิบาย การประยุกต์ใช้และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ การคิดเหล่านี้ล้วนแต่ต้องผสมผสานมิติการคิดเชิงเปรียบเทียบร่วมด้วยเสมอ   ความชำนาญในการเปรียบเทียบจะช่วยให้เป้าหมายการคิดที่ตั้งใจไว้ประสบความสำเร็จ

หลักสูตร “การคิดเชิงเปรียบเทียบ” จึงถูกออกแบบมาขึ้นเพื่อฝึกทักษะในการพิจารณาเทียบเคียงความเหมือน ความแตกต่างระหว่างสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ สามารถอธิบายเรื่องนั้นได้อย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการคิด การแก้ปัญหา หรือการหาทางเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

หลักสูตรการคิดเชิงประยุกต์ (Applicative Thinking)

การคิดเชิงประยุกต์ให้ความสำคัญกับการนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาใช้ในภาคปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม สามารถนำความรู้ไปใช้ได้อย่างเหมาะสมและแก้ปัญหาในสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป สามารถทำงาน ตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี

หลักสูตร “การคิดเชิงประยุกต์” จึงถูกออกแบบมาขึ้นเพื่อฝึกทักษะความสามารถในการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมไปปรับใช้ประโยชน์ในบริบทใหม่ได้อย่างเหมาะสม โดยยังคงหลักการสิ่งเดิมไว้