ผลสำรวจทำไมคนไทยจำนวนมากจึงถูกหลอกต้มตุ๋นได้ง่าย

ในปัจจุบัน ในสังคมมีข่าวสารมากมายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ทั้งการโฆษณาเกินจริงด้านสรรพคุณผลิตภัณฑ์บางประเภท ที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและถูกหลอกให้ซื้ออย่างดาย หรือการหลอกลวงให้นำเงินไปลงทุน เพื่อรับผลตอบแทนที่สูงผิดปกติอย่างไม่สมเหตุสมผล รวมถึงกรณีที่เป็นข่าวโด่งดัง เรื่องลอยแพนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปเที่ยวญี่ปุ่น สาเหตุเกิดจากการหลอกลวงกันมาเป็นทอดๆ จนทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง มีเหยื่อที่ถูกหลอกให้สุญเสียทรัพย์สินมากมาย และกรณีเช่นนี้มักเกิดขึ้นให้เห็นอยู่เสมอ

จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นข้างต้นนี้ ไม่เพียงแค่สะท้อนว่า มีคนมากมายที่หากินบนความเชื่อถือและเชื่อใจของคนไทย ที่ให้ความเชื่อถือในตัวสินค้า พรีเซ็นเตอร์ หรือตัวบุคคลที่เข้ามาให้ข้อมูลและชักจูง อีกด้านหนึ่งจึงสะท้อนถึงตัวผู้บริโภคเอง ที่ยังขาดความเข้าใจในบางแง่มุม ก่อนการตัดสินใจซื้อหรือการลงทุน จนเป็นช่องทางทำให้ผู้ฉวยโอกาสเข้ามาหลอกลวง และสร้างความเดือดร้อนให้กับชีวิตและทรัพย์สินได้ และพบได้บ่อยในประเทศไทย จึงควรวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุ และหาวิธีการในการป้องกันแก้ไขอย่างถูกต้อง

ไอเอฟดี ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,199 คน ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ว่าเหตุใดคนไทยจำนวนมาก ที่ตกเป็นเหยื่อการถูกหลอก การต้มตุ๋นอยู่เสมอ โดยใช้ตัวอย่างจากเหตุการณ์ลอยแพนักท่องเที่ยวไปญี่ปุ่นในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา และกรณีอื่นๆ ที่ประชาชนถูกหลอก เช่น แชร์ลูกโซ่ แชร์เหมืองทอง ฯลฯ มาสู่คำถามว่า เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงคนไทยเป็นอย่างไรในมุมมองของท่าน จากผลการสำรวจพบว่า สาเหตุ 3 อันดับแรกที่ทำให้คนไทยถูกหลอกหรือถูกต้มตุ๋นได้ง่าย คือ เชื่อคนง่าย สนใจของถูกหรือผลตอบแทนสูงในเวลาสั้นแบบไม่สมเหตุสมผล และทำตามเพื่อนฝูงหรือกลุ่ม ตามลำดับ

จากผลการสำรวจ ทำให้เห็นว่าคนไทยยังขาดความเข้าใจในการคิดและวิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผล หรือการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น เพื่อพิสูจน์ข้อมูลที่ได้รับมาว่าเป็นจริงหรือไม่ ทำให้หลงเชื่อบุคคลที่ให้ข้อมูลผิดๆอย่างง่ายดาย รวมถึงความต้องการรวยทางลัดหรือค่าตอบแทนจากการลงทุนที่สูงเกินความเป็นจริง ทำให้คนไทยส่วนมากมักจะถูกหลอกและถูกต้มตุ๋นได้ง่าย ในบางกรณีส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ดังนั้น จึงจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันกำหนดมาตรการและแนวทางที่มุ่งเน้นการป้องกันปัญหา เช่น การพัฒนาคนในสังคมให้มีทักษะการใช้เหตุผล มีลักษณะนิสัยการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ไม่เชื่อจากคำบอกกล่าวของผู้อื่นหรือแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยง่าย เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะทางการเงินและการลงทุน รวมถึงการจัดทำแหล่งข้อมูลที่เท่าทันกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจได้สะดวกและรวดเร็ว เป็นต้น

ผลสำรวจเดือนพฤษภาคม 2560

Leave A Reply

Your email address will not be published.