โครงการพัฒนาชุดข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อติดตามประเมินผลการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของไทย

ชื่อโครงการ :

โครงการพัฒนาชุดข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อติดตามประเมินผลการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของไทย

แหล่งทุน :

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

ปีที่ดำเนินโครงการ :

2560

รายละเอียด :

งานศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาตัวชี้วัดและเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อใช้ติดตามประเมินผลการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของไทย รวมทั้งทดลองนำเครื่องมือไปจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำมาจัดทำเป็นชุดข้อมูลซึ่งสามารถนำมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์การอ่านของไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานศึกษายังได้แสดงตัวอย่างของการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำรายงานการติดตามประเมินผลการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของไทยต่อไปในอนาคต ผลผลิตของโครงการสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเครื่องมือในการเก็บข้อมูล รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยในทุกช่วงวัยต่อไป

ขั้นตอนการดำเนินงานเริ่มตั้งแต่การสำรวจแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง งานศึกษาวิจัย และแหล่งข้อมูลสถิติ จากเอกสารและฐานข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมแบบเน้นกลุ่มเป้าหมาย การสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นจึงออกแบบเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งครอบคลุมทั้งข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิ ในส่วนของเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ จะถูกนำไปทดสอบความเที่ยงตรง (validity) และความเชื่อมั่น (reliability) ของเครื่องมือด้วยการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ และการเก็บข้อมูลภาคสนามเบื้องต้น (Pre-test Survey) จำนวน 180 ตัวอย่าง หลังจากนั้นจึงนำไปทดลองจัดเก็บข้อมูลจริง โดยการสำรวจข้อมูลภาคประชาชนด้วยแบบสอบถามโดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบ Stratified Four-Stage Random Sampling กลุ่มตัวอย่างถูกจำแนกตามภาค ใน/นอกเขตเทศบาล และกลุ่มวัย ซึ่งได้แก่ ปฐมวัย เด็กและเยาวชน วัยทำงาน และวัยเกษียณ กลุ่มวัยละ 300 ตัวอย่างโดยประมาณ จำนวนตัวอย่างรวมหลังการตรวจสอบข้อมูลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,196 ตัวอย่าง นอกจากนี้ยังได้รวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ร่วมกับข้อมูลปฐมภูมิในการวิเคราะห์

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างและองค์ประกอบต่าง ๆ ของตัวชี้วัดสถานะของวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย โดยสามารถแบ่งตัวชี้วัดออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ตัวชี้วัดระดับเป้าหมายสูงสุดของการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ตัวชี้วัดระดับองค์ประกอบของการอ่าน และตัวชี้วัดระดับการดำเนินงานของภาคส่วน ตัวชี้วัดในระดับเป้าหมายสูงสุดของการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านประกอบด้วยหมวด อ่านมาก ชอบอ่าน อ่านดี และอ่านเก่ง โดยประกอบด้วยตัวชี้วัดหลาย ๆ ตัวในแต่ละมีหมวด ตัวชี้วัดระดับองค์ประกอบของการอ่านประกอบด้วยปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการอ่านโดยตรง ซึ่งได้แก่ ตัวผู้อ่าน สภาพแวดล้อมทางสังคม ช่องทางในการเข้าถึงสื่อการอ่าน สื่อการอ่าน และพื้นที่อ่าน ตัวชี้วัดระดับการดำเนินงานของภาคส่วนคือ ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับนโยบายหรือกิจกรรมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบการอ่าน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลปฐมภูมิประกอบด้วยแบบสำรวจการอ่านของประชากร แบบสำรวจพื้นที่อ่าน แบบสำรวจองค์กร และแบบประเมินคุณภาพสื่อการอ่าน

ผลการศึกษายังได้แสดงตัวอย่างการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์การอ่านของคนไทย ซึ่งครอบคลุมการหาค่าสถิติและการทดสอบทางสถิติต่าง ๆ รวมทั้งการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างตัวชี้วัดต่าง ๆ ด้วยวิธีแบบจำลองสมการโครงสร้าง (Structural Equation Modeling) นอกจากนี้ยังแสดงผลการประเมินสถานะของข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของข้อมูลที่มีการจัดเก็บอยู่แล้ว และข้อมูลที่ยังไม่มีการจัดเก็บในปัจจุบัน ข้อเสนอแนะของงานศึกษาแบ่งออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ ข้อเสนอแนะในการจัดเก็บข้อมูล ข้อเสนอแนะการนาเครื่องมือและชุดข้อมูลไปใช้ในภาคปฏิบัติ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของไทย และข้อเสนอแนะงานวิจัยในอนาคต