การพัฒนาการส่งออกสินค้าประเภทอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่ผลิตจากไม้ยางพาราไปยังประเทศอินเดีย
ชื่อโครงการ :
การพัฒนาการส่งออกสินค้าประเภทอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่ผลิตจากไม้ยางพาราไปยังประเทศอินเดีย
แหล่งทุน :
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
ปีที่ดำเนินการ :
2545
รายละเอียด :
อุตสาหกรรมเฟอรนิเจอร์และชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 38,000 ล้านบาทในปี 2544 และติดอันดับ 1 ใน 20 ของสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ทั้งยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราจัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญที่สุด โดยมีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกประมาณร้อยละ 40-50 ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และมีแนวโน้มของอัตราการเติบโตอยู่ในระดับสูง เฉลี่ยประมาณร้อยละ 24 ต่อปี นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศเป็นจำนวนมาก
ตลาดอินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ เนื่องจากมีประชากรมาก เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้บริโภคกำลังก้าวเข้าสู่ความต้องการสินค้าแบบสากลมากขึ้น นอกจากนี้ แนวนโยบายของรัฐยังมีทิศทางในการเปิดตลาดอินเดียสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยอัตราภาษีนำเข้าสินค้าได้ลดลงอย่างสม่ำเสมอจากอัตราร้อยละ 355 ในปี 1991 เหลือร้อยละ 30 ในปีปัจจุบัน
ตลาดเฟอร์นิเจอร์ของอินเดียเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายตัว แม้จะมีปริมาณการนำเข้าไม่มากในปัจจุบัน แต่มีอัตราการขยายตัวที่สูงมากเป็นที่น่าสนใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายในประเทศอินเดียก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราของไทยจะทำการขยายตลาดเข้าไปในประเทศอินเดีย
จากการศึกษาข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราของไทยจำนวน 22 ราย จากจำนวนทั้งหมด 80 รายที่เป็นสมาชิกของ สรท. และศึกษาข้อมูลทุติยภูมิจากแหล่งต่าง ๆ สามารถสรุปศักยภาพของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราของไทยในปัจจุบัน ได้ดังนี้
จุดแข็ง ได้แก่
- สินค้ามีคุณภาพดี
สินค้ามีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยอยู่ในกลุ่มสินค้าระดับกลางค่อนไปทางสูง
- แรงงานมีทักษะฝีมือที่ดี
- มีการจัดส่งสินค้าตรงเวลาและมีคุณภาพ
จุดอ่อน ได้แก่
- ผู้ประกอบการไทยขาดการดำเนินงานด้านการตลาดอย่างเพียงพอ
- ขาดการพัฒนาแรงงานในสาขาเจาะจงอย่างเพียงพอ อันได้แก่ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ช่างฝีมืองานไม้
- เงินลงทุนน้อย
- ขาดการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ เนื่องจากเป็นการผลิตตามคำสั่งของลูกค้าเป็นส่วนใหญ่
- ต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าที่ใช้เป็นส่วนประกอบ
- ขาดการสร้างตราสินค้าของตนเอง
โอกาส ได้แก่
- เป็นแหล่งปลูกไม้ยางพาราขนาดใหญ่
- ไม้ยางพารามีสีอ่อนเป็นที่ต้องการของตลาด
- อุปสงค์ของตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราในตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น
- ผู้ประกอบการไทยได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศ
อุปสรรค ได้แก่
- กระบวนทางราชการล่าช้า ไม่สะดวก
- ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเพียงพอ
- ค่าจ้างแรงงานสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
- ค่าระวางเรือสูงกว่าประเทศคู่แข่ง
- ขาดนโยบายด้านการจัดการวัตถุดิบไม้ยางพาราและการจัดสรรทรัพยากร
- ราคาของไม้ยางพารามีแนวโน้มสูงขึ้น
- ค่าขนส่งภายในประเทศไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง
- โครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
สภาพตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ในประเทศอินเดีย
เศรษฐกิจอินเดียในอดีตมีการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศในระดับสูง ในปัจจุบัน หลังการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เศรษฐกิจอินเดียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยประมาณร้อยละ 6 ต่อปี ประชาชนมีแนวโน้มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มคนยากจนในประเทศกำลังเปลี่ยนไปเป็นชนชั้นกลางในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่ากลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสินค้าในระดับราคาของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศยังมีน้อย กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงยังกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มน้อย อย่างไรก็ตามตลาดอินเดียมีแนวโน้มเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในอนาคต
ตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ของอินเดียมีมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านเหรียญ สรอ. คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 65 ของตลาดเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด มีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 15 ต่อปี ชาวอินเดียส่วนใหญ่นิยมเฟอร์นิเจอร์ไม้สักซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ดังนั้น ส่วนแบ่งทางการตลาดของเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารายังมีน้อยในปัจจุบัน
ตลาดนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ของอินเดียยังเป็นตลาดใหม่ มีปริมาณการนำเข้าประมาณ 9.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละเพียง 0.8 ของตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ แต่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงถึงประมาณร้อยละ 90 ต่อปี เฟอร์นิเจอร์ไม้นำเข้าในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ชนิดที่ใช้ในสำนักงาน
พฤติกรรมผู้บริโภค
จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค โดยใช้แบบสอบถามสำรวจคนอินเดียที่เดินทางมาในประเทศไทยจำนวน 262 คน สามารถสรุปผลการสำรวจ ได้ดังนี้
- ในด้านตัวสินค้า
สิ่งที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์เรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ ความประณีต คงทน ปลอดภัย ชนิดของไม้ รูปแบบ ประโยชน์ใช้สอย ความหรูหรา ราคา ส่วนสิ่งที่มีอิทธิพลน้อยในการตัดสินใจ ได้แก่ ตราสินค้า (brand) และน้ำหนักของเฟอร์นิเจอร์
- ในด้านช่องทางการซื้อ
คนอินเดียชื่นชอบที่จะซื้อเฟอร์นิเจอร์จากร้านขายเฟอร์นิเจอร์มากที่สุด ส่วนการซื้อจากงานแสดงเฟอร์นิเจอร์ ร้านค้าปลีกทั่วไป การขายตรง ห้างสรรพสินค้า เป็นที่นิยมเท่า ๆ กัน ในขณะที่การซื้อผ่านทางโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับความนิยม
- ในด้านความพึงพอใจต่อเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา
พบว่าคนอินเดียส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา และในกลุ่มของผู้ที่รู้จัก พบว่าผู้ที่ไม่แน่ใจหรือไม่ยอมรับในคุณสมบัติของเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารามีสัดส่วนที่สูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านความคงทน ความสวยงาม หรือความหรูหรา แต่ก็เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าไม่มากนัก ในด้านราคา ส่วนใหญ่เห็นว่าเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราที่พบเห็นมีราคาเหมาะสม และมีคุณภาพปานกลาง สรุปในภาพรวมแล้ว กลุ่มผู้ที่พึงพอใจในเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารามีสัดส่วนใกล้เคียงกับกลุ่มผู้ที่ไม่พึงพอใจหรือไม่แน่ใจ
โอกาสในการเข้าสู่ตลาด
ตลาดนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ของอินเดียยังเป็นตลาดใหม่ มีคู่แข่งน้อย และมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับสูง ขณะที่คนอินเดียกำลังมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มไปสู่ระบบกลไกตลาดและเปิดสู่ตลาดโลกมากขึ้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ในอินเดียเป็นอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร จึงเป็นโอกาสในการเจาะตลาดใหม่ของผู้ประกอบการไทยโดยการสร้างความได้เปรียบในตลาด ด้วยการเจาะตลาดอินเดียก่อนประเทศคู่แข่ง
อุปสรรคการเข้าสู่ตลาด
ภาษีนำเข้าซึ่งยังมีอัตราสูงประมาณร้อยละ 60 แม้ว่าจะได้ลดลงมาอย่างมากแล้วหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจของอินเดียในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เป็นอุปสรรคในการนำเข้าสินค้าที่มีราคาสูงโดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราของไทย นอกจากนี้ประชาชนยังมีความหลากหลายทั้งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม รสนิยม และสภาพความเป็นอยู่ ทำให้ยากแก่การทำการตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มคนต่าง ๆ อีกทั้งประเทศอินเดียมีพื้นที่กว้างใหญ่ การกระจายสินค้ากระทำได้ลำบาก ต้องอาศัยผู้กระจายสินค้าในท้องถิ่น นอกจากนั้น สำหรับประเทศไทย การดำเนินธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจอินเดียยังมีน้อย ซึ่งนับเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเข้าสู่ตลาดใหม่
แนวโน้มของตลาด
ขนาดของตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ของอินเดียที่งานวิจัยนี้ได้คาดการณ์ไว้จะมีขนาดประมาณ 1.14 แสนล้านรูปีในปี 2010 หรือคิดเป็น 1.05 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ประชากรอินเดียกำลังมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กลุ่มที่มีฐานะยากจน กลายมาเป็นชนชั้นกลางและสูงในสัดส่วนมากขึ้นตามลำดับ กลุ่มเป้าหมายของตลาดที่อยู่บนพื้นฐานของชนชั้นกลางขึ้นไปจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การที่รัฐบาลมีนโยบายจำกัดการตัดป่าภายในประเทศ ทำให้ความต้องการเฟอร์นิเจอร์มีแนวโน้มหันมาทางเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากไม้ปลูกอย่างเช่น ไม้ยางพารา หรือไม้อื่น ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ การที่ประเทศมีแนวโน้มลดกำแพงภาษีการนำเข้าลงนั้น เป็นโอกาสดีที่จะสามารถเจาะตลาดอินเดียได้เป็นผลสำเร็จได้มากยิ่งขึ้นไปในอนาคต
กลยุทธ์ในการเจาะตลาดอินเดีย
1). กลยุทธ์ด้านราคา
คนอินเดียส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อที่ไม่สูงนัก ราคาจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า นอกจากนี้ภาษีนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นกลยุทธ์ที่ควรจะเป็น ได้แก่ การเจรจาของรัฐ โดยใช้การเจรจาในระดับกลุ่มภูมิภาคน่าจะได้ผลสำเร็จมากกว่าการเจรจาในระดับ WTO หรือทวิภาคี เช่น กลุ่มเศรษฐกิจ BIMST-EC หรือการผลักดันให้เกิดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ASEAN+4 (ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย) โดยไทยจำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเจรจา ซึ่งภาคเอกชนควรมีบทบาทในการผลักดันในภาคปฏิบัติ
2). กลยุทธ์ด้านการสร้างความรู้จักสินค้าไทย
2.1 การรวมกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดพลังในการผลักดันกิจกรรมต่าง ๆ
2.2 การจัดงานแสดงสินค้า โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ 1. กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด และต่อพฤติกรรมการบริโภคเฟอร์นิเจอร์ของชาวอินเดีย เช่น สถาปนิก มัณฑนากร นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ บรรณาธิการ
นักเขียนคอลัมน์ในหนังสือที่เกี่ยวข้อง และบุคคลชั้นแนวหน้าของสังคม 2. กลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่ เช่น ผู้นำเข้า หรือผู้ประกอบการกิจการโรงแรม
2.3 การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ได้แก่ การตีพิมพ์ชุดบทความเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าไทย
2.4 การจัดการประกวดออกแบบเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มนักศึกษาสาขาวิชาสถาปัตยกรรม สาขาวิชาตกแต่งภายใน และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการชี้นำพฤติกรรมการใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ของชาวอินเดียในอนาคต
2.5 การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา โดยผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อแก้ไขความเข้าใจของคนอินเดียที่มีต่อภาพลักษณ์ของเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้ออ่อน
3). กลยุทธ์การพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยในระยะยาว ได้แก่
3.1 การตั้งสถาบันเฟอร์นิเจอร์ จัดให้มีการเรียนการสอนหลากหลายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ การผลิตนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ การผลิตแรงงานกึ่งจัดการ การวิจัยและพัฒนาคุณภาพไม้ยางและกระบวนการการผลิตทั้งการผลิตไม้ยางพาราและการผลิตเฟอร์นิเจอร์ การวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยอย่างต่อเนื่อง
3.2 การศึกษาผลดี ผลเสีย และความเป็นไปได้ในการพัฒนารูปแบบการผลิตแบบเฉพาะชิ้นส่วน เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญในการผลิตเฉพาะด้าน
3.3 การขจัดอุปสรรคที่เกิดจากการดำเนินงานของภาครัฐ
4). ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ได้แก่ การพัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้า ทั้งทางเรือและทางบก การให้ความรู้เกี่ยวกับการนำเข้าของอินเดียแก่ผู้ประกอบการไทย