ผลสำรวจนิสัย 3 อันดับแรกที่คนไทยควรเปลี่ยนแปลงมากที่สุด
19 ปี หลังจากประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นจัดโอลิมปิค และเปิดรถไฟชินกันเซ็น 35 ปีหลังจากแพ้สงคราม ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แม้จะพบกับความพ่ายแพ้จนต้องปิดประเทศเป็นเวลาหลายปี แต่ญี่ปุ่นสามารถกลับก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาได้อีกครั้ง ส่วนหนึ่งมาจากในช่วงที่ปิดประเทศ ญี่ปุ่นได้มีนโยบายใหม่ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และที่สำคัญคือมีการสร้างความเชื่อมั่นให้พลเมืองชาวญี่ปุ่น และการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการทำงานหนัก จนญี่ปุ่นพลิกฟื้นกลับสู่ความรุ่งเรืองได้ จนถึงปัจจุบันลักษณะนิสัยหลายประการของคนญี่ปุ่น ยังคงเป็นที่นับถือในระดับสากล ทั้งด้านการมีวินัย การทำงานหนัก เคารพกฎระเบียบ ตรงต่อเวลา
จากตัวอย่างของญี่ปุ่นในข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือของประชากรในประเทศ สำหรับในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในสถานะประเทศกำลังพัฒนา ประชากรในประเทศมีส่วนสำคัญยิ่ง ในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ต้องเริ่มจากการพัฒนาลักษณะนิสัย เพื่อสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่จะสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศต่อไป ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุผลหนึ่งที่สังคมและประเทศไทยพัฒนาได้ช้า มาจากนิสัยบางประการของคนไทยที่ยังต้องพัฒนา
ไอเอฟดี ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,194 คน ทุกภูมิภาคทั่วประเทศว่า นิสัยที่คนไทยควรเปลี่ยนแปลงมากที่สุด โดยมีตัวเลือกทั้งหมด 10 อันดับ ได้แก่ ไม่ตรงต่อเวลา ทำตามใจคือไทยแท้ คอร์รัปชั่น หูเบา งมงาย ฟุ้งเฟ้อ ไม่เข้าคิว ชอบใช้อำนาจข่มเหงผู้อื่น ขาดระเบียบวินัย และขาดการเห็นแก่ส่วนรวม ตามลำดับ โดยผลสำรวจพบว่า 3 อันดับแรกที่มีคะแนนสูงสุด คือ การไม่ตรงต่อเวลา การทำตามใจคือไทยแท้ และการคอร์รัปชั่น ตามลำดับ
จากผลสำรวจ ชี้ชัดว่าคนไทยกันเอง ยังคิดเห็นตรงกันเกี่ยวกับอุปนิสัยที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ ส่งผลกระทบทั้งต่อเรื่องส่วนตัว สู่ระดับองค์กร และสังคม ไปจนถึงผลกระทบระดับประเทศ ยิ่งในปัจจุบันสังคมไทยก้าวสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการเชื่อมต่อทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมกับนานาประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับการตรงต่อเวลา การมีระเบียบวินัยและเคารพในกฎกติกาทางสังคม และความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ทำให้คนไทยจำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่การมีวัฒนธรรมสากลมากขึ้น เพื่อจะเป็นที่ยอมรับ สามารถอยู่รอด และแข่งขันระดับโลกได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระบบต้องทำงานบูรณาการร่วมกันทั้งด้านการพัฒนาและส่งเสริมครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานในการสร้างสมาชิกในครอบครัว ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ และองค์กรการทำงาน ฯลฯ เพื่อร่วมสร้างและพัฒนาลักษณะนิสัยดังกล่าวให้เกิดขึ้น จนเป็นวิถีชีวิตและมีส่วนเอื้อต่อความสำเร็จของบุคคลและประเทศชาติในภาพรวมได้
ผลสำรวจเดือนพฤษภาคม 2560