ไอเอฟดีโพลชี้ “เหตุเชื่อง่าย ทำให้คนไทยตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่”

ไอเอฟดีโพลและเซอร์เวย์ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) สำรวจความเห็นประชาชนไทยตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป   เรื่อง “ทำไมคนไทยจึงเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่?” จำนวน 1,243 ตัวอย่าง สำรวจช่วง 18-22 ตุลาคม 2567 ใน 6 ภูมิภาค ด้วยวิธีสำรวจภาคสนามและโทรศัพท์อย่างละ 50% สุ่มตัวอย่างความน่าจะเป็น Stratified Five-Stage Random Sampling ค่าความผิดพลาด 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% จากผลไอเอฟดีโพลชี้ว่า

ประชาชนกว่าครึ่ง คือ 48.88.% ไม่เคยถูกชักชวนให้ลงทุนในแชร์ลูกโซ่

ประชาชน 14.80% เคยเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ 

ปัจจัยที่ทำให้คนไทยถูกหลอกง่ายที่สุด 5 อันดับแรกคือ  

  1. เชื่อง่าย/ไม่ตรวจสอบข้อมูล                                                  69.09%   
  2. ผลตอบแทนสูงในเวลาสั้น                                                    31.48%  
  3. เชื่อตามคำแนะนำของคนดัง/อินฟลูเอนเซอร์                         26.93%
  4. โปรโมชั่นจำกัดเวลากดดัน                                                   18.98%
  5. ไม่ฟังคำเตือนจากคนรอบข้าง                                              15.23%

ประชาชน 1 ใน 3 คือ 35.32% เคยถูกชักชวน แต่ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่

เหตุผลที่ทำให้กลุ่มประชาชนที่ไม่ตกเป็นเหยื่อ 5 อันดับแรก เพราะ

  1. ผลตอบแทนดูดีเกินจริง                                                        45.23%
  2. เคยเห็นตัวอย่างจากคนอื่นที่เคยโดนหลอก                             24.55%
  3. ปรึกษาและคำเตือนจากเพื่อน/ครอบครัว                               24.09 %
  4. ไปเช็กข้อมูล แล้วพบว่ามีความเสี่ยง/น่าสงสัย                         20.91%
  5. ไม่มีเงินลงทุน  และไม่อยากยืมเงินใคร                                   20.91%

สรุปบทเรียนการเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่

  1. ขาดความรู้ด้านการลงทุน: ประชาชนยังไม่เข้าใจการลงทุนและความเสี่ยง ขาดการตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจ
  2. ความโลภและความต้องการรวยเร็ว: แรงจูงใจจากผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้น ทำให้ละเลยความเสี่ยง และคนบางกลุ่มเต็มใจที่จะเสี่ยง โดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ของการถูกหลอกลวง
  3. เชื่อคนดัง/อินฟลูเอนเซอร์: เชื่อในคำแนะนำของคนดัง โดยไม่คิดวิพากษ์วิจารณ์ เป็นช่องทางให้ถูกหลอกลวงได้
  4. แรงกดดันทางเศรษฐกิจ: ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ผู้คนอยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยง การขาดทางเลือกและโอกาสทางการเงิน โดยเฉพาะช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้คนหาช่องทางลงทุน อาชีพเสริม จึงตกเป็นเหยื่อ
  5. การควบคุมและกำกับที่ไม่เข้มงวด: หน่วยงานภาครัฐขาดการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

ถอดบทเรียนจากกรณีแชร์ลูกโซ่ จากเพจ Dr.Kriengsak Chareonwongsak เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับธุรกิจขายตรงกับสังคมไทย : ถอดบทเรียนจากปรากฏการณ์ The Icon (More Dan Live) 24 ตุลาคม 2567 ดังนี้

  1. พัฒนาความรู้และทักษะการลงทุน ที่ไม่ใช่แค่ความรู้ทางการเงิน พัฒนาให้ประชาชนตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์และวิพากษ์เกี่ยวกับการลงทุน การบริหารจัดการความเสี่ยง และการตระหนักถึงสัญญาณเตือนการฉ้อโกง
  2. คนดัง/อินฟลูเอนเซอร์ดำเนินกิจการอย่างรับผิดชอบเป็นแบบอย่างที่ดี ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กล่าวว่า คนดัง/อินฟลูเอนเซอร์เป็น “บ้านหลังที่สาม” มีอิทธิพลต่อความคิด/พฤติกรรมผู้ติดตาม จึงควรทำกิจการ/เข้าร่วมกิจการที่ไม่หลอกลวง เป็นแบบอย่างที่มีความรับผิดชอบ โปร่งใส และมีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
  3. ทำดัชนีวัดสภาพใกล้การเป็นแชร์ลูกโซ่ ใช้เป็นตัววัดหรือพยากรณ์ว่าจะเข้าใกล้การเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ขนาดไหน และเมื่อไหร่ เช่น อาจมีการจัดอันดับองค์กรธุรกิจเป็นระดับ A B C D และนำเสนอข้อมูลแบบเรียลไทม์ให้ประชาชนเข้าตรวจสอบได้ เพื่อหน่วยงานรัฐจะติดตามเฝ้าระวังและตรวจสอบได้ ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วค่อยไปตามแก้   
  4. กำหนดกฎระเบียบ ข้อกฎหมายที่ทันสมัยและบังคับใช้อย่างเข้มงวด ศึกษาจากองค์กรต่างประเทศว่ามีแนวทางดำเนินการทางกฎหมายอย่างไร มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพ พัฒนากฎระเบียบ/กฎหมายใหม่ร่วมสมัย เช่น กำหนดบทลงโทษที่สมสัดส่วนกับความเสียหาย ผลตอบแทนที่จ่ายให้ผู้จัดจำหน่ายอย่างน้อย 2 ใน 3 ต้องมาจากยอดขายปลีกที่ตรวจสอบได้ และมีผู้ตรวจสอบอิสระเข้าตรวจสอบการดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง 7 ปี ฯลฯ และบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด
  5. เสริมสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ด้านการลงทุน เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อลงทุน  เช่น
  6. สร้าง platform เพื่อรวมตัว รวมพลังสำหรับตรวจสอบธุรกิจเครือข่ายอื่น ๆ เป็นช่องทางปรึกษานักการเงิน/ ผู้มีประสบการณ์ก่อนการลงทุน ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังพิจารณาการลงทุน  เพื่อให้ประชาชนมีที่พึ่งพาทางการเงินที่มั่นคงและน่าเชื่อถือ มาให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนความเห็น
  7. สร้างวัฒนธรรมการถามและตรวจสอบ: ประชาชนควรได้รับการสนับสนุนให้ตั้งคำถามและสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนกับคนรอบข้าง สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี เช่น เว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและการลงทุนต่างๆ รวมถึงการรับคำเตือนจากคนที่มีประสบการณ์หรือความรู้ด้านการเงิน
  8. ส่งเสริมบทบาทของครอบครัวและเพื่อน:  สังคมไทยควรส่งเสริมการเปิดกว้างในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุนภายในครอบครัวและกลุ่มเพื่อนฝูง เพื่อลดการตัดสินใจที่รีบร้อนหรือเสี่ยงเกินไป

ลักษณะทางประชากรและภูมิภาค 

  • เพศ  43.52% เป็นเพศชาย   51.97% เพศหญิง   4.10% เพศทางเลือก  และ 0.04% ไม่ประสงค์จะระบุ    
  • อายุ 11.37% อายุ 15-25 ปี   22.37% อายุ 26-35  ปี   22.20% อายุ 36-45 ปี   21.16 % อายุ 46-59 ปี  และ 18.91% ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  • ระดับการศึกษา  7.40% ประถมศึกษา/ต่ำกว่า  40.06% มัธยมศึกษา/ปวช.   20.92% ปวส./อนุปริญญา 28.48% ปริญญาตรี และ 3.14% สูงกว่าปริญญาตรี
  • อาชีพ 6.60% ข้าราชการ/ลูกจ้าง/รัฐวิสาหกิจ   19.31% พนักงาน/ลูกจ้างเอกชน 17.86% ประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย      9.49% ช่วยธุรกิจ/งานครอบครัว  16.65% รับจ้างทั่วไป   9.17% แม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณ 14.08% นักเรียน/นักศึกษา และ 6.84% ว่างงาน
  • ภูมิภาค  14.32% อยู่ใน กทม.และปริมณฑล  18.91% ภาคเหนือ  15.61% ภาคกลาง   7.88% ภาคตะวันออก  29.93% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และ 13.35% ภาคใต้

Press ไอเอฟดีโพล ทำไมคนไทยจึงเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ ? [pdf] ดาวน์โหลด

ฉบับเต็ม ไอเอฟดีโพล ทำไมคนไทยจึงเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ ? [pdf] ดาวน์โหลด

Leave A Reply

Your email address will not be published.