ไอเอฟดีโพล ศึก 4 เส้าเลือกตั้งหน้า : เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาชน และพรรคการเมืองใหม่

ไอเอฟดีโพลและเซอร์เวย์ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) สำรวจความเห็นประชาชนไทยตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป   เรื่อง “ศึก 4 เส้าเลือกตั้งหน้า : เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาชน และพรรคการเมืองใหม่จำนวน 1,233 ตัวอย่าง สำรวจช่วง 17-23 ตุลาคม 2567 ใน 6 ภูมิภาค ด้วยวิธีสำรวจภาคสนามและโทรศัพท์อย่างละ 50% สุ่มตัวอย่างความน่าจะเป็น Stratified Five-Stage Random Sampling ค่าความผิดพลาด 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

ผลไอเอฟดีโพลชี้ว่า  

  • ผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดทิศทางการเมืองไทย ณ วันนี้ คือ ทักษิณ ชินวัตร (61.07%) รองลงมาคือ เนวิน ชิดชอบ (13.54%) และแพทองธาร ชินวัตร (11.52%)  
  • ผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดทิศทางการเมืองไทยในการเลือกตั้งหน้า 2570 คือ ทักษิณ ชินวัตร (20.84%) รองลงมา คือ อนุทิน ชาญวีรกุล (15.41%) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (12.33%) และคนที่ประชาชนเชื่อถือศรัทธา มาตั้งพรรคใหม่, ขึ้นมานำการเมืองไทย (11.60%)   
  • พรรคที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดทิศทางการเมืองไทย ณ วันนี้ 3 อันดับแรกคือ พรรคเพื่อไทย (70.80%) พรรคภูมิใจไทย (19.46%) และพรรคประชาชน (7.46%)
  • พรรคที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดทิศทางการเมืองไทยในการเลือกตั้งหน้า 2570 คือ พรรคประชาชน (31.63%) พรรคเพื่อไทย (29.44%) พรรคภูมิใจไทย (25.55%) และพรรคการเมืองใหม่ที่เรียกความศรัทธาได้ (11.19%)

ดร.แดนชี้ “ศึก 4 เส้า” เปลี่ยนโฉมการเมืองไทย เลือกตั้ง 2570 อาจพลิกขั้วใหญ่

ดร.แดน – ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และประธานสถาบันการสร้างชาติ วิเคราะห์ผลจากไอเอฟดีโพลว่า   การเลือกตั้งปี 2570 จะเป็น “ศึก 4 เส้า” ระหว่างพรรคการเมืองใหญ่สามพรรคในปัจจุบัน—เพื่อไทย ภูมิใจไทย และพรรคประชาชน—ที่ต้องเผชิญกับพรรคการเมืองใหม่ที่กำลังมาแรง โดยภูมิใจไทยและพรรคประชาชนมีแนวโน้มขาขึ้น ในขณะที่เพื่อไทยดูท่าจะเจอขาลง ส่วนพรรคใหม่ที่ประชาชนศรัทธามีโอกาสพลิกโฉมการเมือง หากได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ ก็อาจคว้าชัยแบบแลนด์สไลด์ได้

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการคว้าชัยชนะในสนามเลือกตั้ง ดร.แดนยังเผยอีกว่ามีปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ได้แก่

  1. คนมีบารมีนอกพรรคค้ำจุน: มี 2 กลุ่ม คือ รัฐเชิงลึกหรือกลุ่มคนนิรนาม และกลุ่มผู้มีอำนาจเหนือพรรคที่เปิดตัว เช่น ทักษิณ ชินวัตร, เนวิน ชิดชอบ, และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เสริมความเชื่อมั่น/มั่นคง และความสามารถแข่งขันให้พรรคการเมือง
  2. บ้านใหญ่มีบทบาท: เครือข่าย “บ้านใหญ่” กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดผลเลือกตั้งครั้งหน้า  โดยบ้านใหญ่ก็ประเมินอย่างเข้มข้นถึงพรรคที่มีโอกาสชนะสูงสุด ทำให้การเจรจาเพื่อแย่งชิงบ้านใหญ่ทวีความดุเดือด
  3. เงินสนับสนุน: พรรคที่มี “ท่อน้ำเลี้ยงดี” หรือเงินสนับสนุนที่ต่อเนื่องและมั่นคง คือผู้ได้เปรียบ และสร้างภาพลักษณ์ที่มั่นคง สามารถทำงานการเมืองและสนามเลือกตั้งได้อย่างต่อเนื่องและทรงพลัง
  4. กระแสสื่อจับจ้อง: การได้รับความสนใจจากสื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์และเป็นแรงดึงดูดความสนใจจากประชาชน
  5. วิสัยทัศน์และนโยบายพรรคเป็นธงนำ: การมีจุดยืน วิสัยทัศน์ นโยบายที่ชัดเจน น่าเชื่อถือ และตรงใจประชาชน จะเป็นที่ยอมรับ จะสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มความนิยมได้อย่างมาก
  6. ผู้นำพรรค/แกนนำพรรคเป็นตัวจี๊ดโดดเด่น: การมีผู้นำพรรค/แกนนำพรรคที่มีบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์โดดเด่น จะช่วยดึงดูดความสนใจและสร้างความนิยมให้แก่พรรคนั้น
  7. ทำงานร่วมกับพรรคอื่นได้:  งานการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องพรรคเดี่ยว พลังการสร้างพันธมิตรกับพรรคอื่นที่เข้มแข็งคืออีกปัจจัยสำคัญในการรักษาและเสริมความแข็งแกร่งของการมีอำนาจและสร้างอิทธิพลในสนามการเมือง   
  8. การควบคุมกลไกรัฐ: เช่น การเป็นรัฐบาลและมีอำนาจในการบริหาร จะสร้างความได้เปรียบ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลนี้ขึ้นกับการมีผลงานดีในช่วงเป็นรัฐบาล เพื่อสร้างคะแนนเสียงต่อเนื่อง แต่อาจไปไม่ถึงการเลือกตั้งหน้า
  9. กลไกวุฒิสภา: อิทธิพลในวุฒิสภาเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความได้เปรียบ และจะได้เปรียบในการมีอิทธิพลทางการเมืองที่ยาวเลยไปกว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะอายุดำรงตำแหน่ง ส.ว. ยาวถึง 7 ปี
  10. นิติจริยสงคราม:  การใช้กฎหมายและจริยธรรมเพื่อควบคุมหรือสกัดบางพรรค กลายเป็นกลยุทธ์ที่ทรงพลังและมีนัยสำคัญในเวทีการเมืองไทย เพื่อสร้างข้อจำกัดหรือตัดสิทธิ์พรรคและนักการเมือง  เช่น การยุบพรรค การตัดสิทธิ์นักการเมือง และการคุมเข้มมาตรฐานจริยธรรมทางการเมือง ฯลฯ
  11. การยุบพรรคการเมือง: การยุบพรรคอาจสร้างโอกาสให้พรรคการเมืองใหม่เข้ามามีบทบาทสำคัญ หรือทำให้การเมืองในอนาคตยังคงเหมือนเดิมหากพรรคที่ถูกยุบหวนกลับมาในรูปแบบใหม่
  12. พรรคการเมืองใหม่/ผู้นำคนใหม่: หากพรรคการเมืองใหม่หรือผู้นำใหม่ที่ประชาชนศรัทธาและได้รับความเชื่อถือจากประชาชน อาจนำไปสู่ความนิยมที่ถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งหน้า
  13. การมีผลงาน: ผลงานในอดีต แม้จะมีผลน้อยกว่าปัจจัยอื่นข้างต้น แต่ยังคงมีความสำคัญในสายตาผู้สนับสนุน

ท่ามกลางการวิเคราะห์นี้ ดร.แดนชี้ว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นเหตุการณ์ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

    ผลการสำรวจ

    ผู้นำและพรรคที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดทิศทางการเมืองไทย

เหตุผลที่ประชาชนคิดว่าพรรคใดมีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดทิศทางการเมืองไทย ณ วันนี้

  เหตุผลที่ประชาชนคิดว่าพรรคใดมีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดทิศทางการเมืองไทย ในเลือกตั้งหน้า 2570

ลักษณะทางประชากรและภูมิภาค 

  • เพศ   43.96% เป็นเพศชาย  51.58% เพศหญิง  2.51%  เพศทางเลือก  และ 1.95% ไม่ประสงค์จะระบุ    
  • อายุ  13.38% อายุ 15-25 ปี   19.46% อายุ 26-35  ปี   22.63% อายุ 36-45 ปี   24.25 % อายุ 46-59 ปี  และ 20.28% ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  • ระดับการศึกษา   5.92% ประถมศึกษา/ต่ำกว่า 42.09% มัธยมศึกษา/ปวช.  21.90 % ปวส./อนุปริญญา   22.79 % ปริญญาตรี และ 7.30% สูงกว่าปริญญาตรี
  • อาชีพ  7.95% ข้าราชการ/ลูกจ้าง/รัฐวิสาหกิจ   19.46% พนักงาน/ลูกจ้างเอกชน 16.46 % ประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย  12.49% ช่วยธุรกิจ/งานครอบครัว  15.82% รับจ้างทั่วไป   10.62% แม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณ     9.65% นักเรียน/นักศึกษา   และ 7.54% ว่างงาน
  • ภูมิภาค  14.52% อยู่ใน กทม.และปริมณฑล  18.41 % ภาคเหนือ  13.14% ภาคกลาง  7.87% ภาคตะวันออก  32.28% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และ 13.79% ภาคใต้

Press ศึก 4 เส้าเลือกตั้งหน้า : เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาชน และพรรคการเมืองใหม่ [pdf] ดาวน์โหลด

บทวิเคราะห์ ดร.แดนชี้ เลือกตั้งหน้า ศึก 4 เส้า เปลี่ยนโฉมการเมืองไทย [pdf] ดาวน์โหลด

Leave A Reply

Your email address will not be published.