ไอเอฟดีโพลชี้ เรื่องที่เยาวชนไทยกังวล “เกี่ยวกับตนเองมากที่สุด”
ไอเอฟดีโพลและเซอร์เวย์ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) สำรวจความเห็นเยาวชน เรื่องความกังวลและความหวัง ในเยาวชน 15-24 ปี สำรวจช่วง 4-14 กันยายน 2567 1,186 ตัวอย่าง ใน 6 ภูมิภาค ด้วยวิธีสำรวจภาคสนามและโทรศัพท์อย่างละ 50% สุ่มตัวอย่างความน่าจะเป็น Stratified Five-Stage Random Sampling ค่าความผิดพลาด 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
ผลไอเอฟดีโพลชี้ว่า เรื่องที่เยาวชนไทยกังวลเกี่ยวกับตนเองมากที่สุด พบว่า เยาวชน 64.87% ระบุว่าคือ เกรด/การเรียน รองลงมาคือ 41.45% ขาดสภาพคล่องทางการเงิน/ค่าใช้จ่าย ส่วนเรื่องที่เยาวชนกังวลเกี่ยวกับสังคมและประเทศชาติมากที่สุด พบว่า เยาวชน 48.78% ระบุว่าคือ เรื่องเศรษฐกิจถดถอย หางานยาก รายได้น้อย และ 43.47% คือ การศึกษายังไม่มีคุณภาพ มีความเหลื่อมล้ำ และไม่ตอบสนองตลาดแรงงาน” นอกจากนั้น เยาวชนมีความหวังว่าองค์กร/สถาบันที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาตัวเยาวชน สังคม และประเทศได้ โดยเยาวชน 49.20% มีความหวังในระดับมากต่อสถานศึกษา/สถาบันการศึกษา รองลงมา 46.55% คือ องค์กรสื่อ 44.44% คือ องค์กรกระบวนการยุติธรรม (ศาล) และ 44.18% คือ ครอบครัว/ผู้เลี้ยงดู
เยาวชนเป็นอนาคตของประเทศในวันข้างหน้า การสำรวจความเห็นเยาวชนมีความสำคัญเพราะช่วยสะท้อนความกังวล ความต้องการ และความหวังของพวกเขา เป็นการสร้างพื้นที่ให้เยาวชนมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ ช่วยวางแผนและพัฒนานโยบายที่ตรงจุด โดยมีข้อมูลสนับสนุน มีผลสำรวจดังนี้
ผลสำรวจ
- เรื่องที่เยาวชนกังวลเกี่ยวกับตนเอง พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ 64.87% กังวลเรื่องเกรด/การเรียน รองลงมา 41.45% กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงิน/ค่าใช้จ่าย และมีเยาวชนประมาณ 1 ใน 4 จะกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับเพื่อน/การเข้ากลุ่ม/เป็นที่ยอมรับ (28.56%) และสุขภาพจิต/ความวิตกกังวล (26.28%)
- เรื่องที่เยาวชนกังวลเกี่ยวกับสังคมและประเทศ พบว่า เยาวชน 48.78% กังวลเรื่องสภาพเศรษฐกิจถดถอย/หางานยาก รองลงมา 43.47% เรื่องการจัดการศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพ/เหลื่อมล้ำ/ไม่ตอบสนองตลาดแรงงาน และเยาวชน 1 ใน 4 กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม/ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม (29.40%) ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน-รวย/ในเมือง-ชนบท (25.61%) การเมืองเพื่อพวกพ้องและเยาวชนไม่ได้มีส่วนร่วมเท่าที่ควร (25.27%) และปัญหาสุขภาพจิตของคนในสังคม (22.50%)
- ความหวังของเยาวชนต่อองค์กร/สถาบันที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาตัวเยาวชน สังคม และประเทศชาติได้ พบว่า เยาวชน 49.20% มีความหวังในระดับมากต่อสถานศึกษา/สถาบันการศึกษา รองลงมา 46.55% องค์กรสื่อ 44.44% องค์กรกระบวนการยุติธรรม (ศาล) และ 44.18%ครอบครัว/ผู้เลี้ยงดู ในขณะที่เยาวชนมีความหวังในระดับน้อยต่อองค์กรทางการเมือง ได้แก่ รัฐบาล วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร และรวมถึงองค์กรตำรวจ
การวิเคราะห์จากผลสำรวจ
- เรื่องที่เยาวชนกังวลเกี่ยวกับตนเองและต่อสังคม/ประเทศ คือ เรื่องการเรียน/การได้การศึกษาที่มีคุณภาพ สภาพคล่องทางการเงิน/ค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอ และปัญหาด้านสุขภาพจิต/ความวิตกกังวล ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ผู้เกี่ยวข้องควรรับฟังและลงรายละเอียดในเยาวชนแต่ละกลุ่ม และบูรณาการทำงานร่วมจากหลายฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้จริง
- เยาวชนยังคงมีความหวังในระดับมากต่อโรงเรียน/สถาบันการศึกษา ทั้งที่มีความกังวลในประเด็นการคุณภาพการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสูง เนื่องด้วยเยาวชนได้รับการพัฒนาผ่านสถาบันการศึกษาเป็นหลัก ทำให้ระบบการศึกษาจำเป็นต้องปฏิรูปจัดการศึกษาที่มีคุณภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้ ปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อจัดการศึกษาเพื่ออนาคต
- เยาวชนมีความหวังในระดับมากต่อองค์กรสื่อ เพราะเป็นช่องทางเรียนรู้ที่สำคัญในโลกอนาคต ปัจจุบันเยาวชนรับข้อมูลและเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์เป็นหลัก องค์กรสื่อจึงควรพัฒนาแอปพลิเคชัน สื่อเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และทันสมัยที่เยาวชนเข้าถึงได้ เช่น เชื่อมสื่อเรียนรู้คุณภาพสูงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกและของไทย สนับสนุนผลิตสื่อคุณภาพ ฯลฯ
- เยาวชนถึง 19.73% หรือ 1 ใน 5 มีความหวังต่อครอบครัวในระดับน้อย เป็นเรื่องที่น่ากังวลและเร่งหาแนวทางแก้ไข เพราะครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญพัฒนาคนและสังคม โดยองค์กรที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปพัฒนาความเข้มแข็งของครอบครัว
ลักษณะทางประชากรและภูมิภาค
- เพศ เยาวชน 48.82% เป็นเพศชาย 49.42% เพศหญิง และ 1.76% เพศอื่น ๆ
- อายุ เยาวชน 44.85% อายุ 15-18 ปี 42.50% อายุ 19-22 ปี และ 12.65% อายุ 23-24 ปี
- ระดับการศึกษา เยาวชน 0.76% ประถมศึกษา 16.61% มัธยมศึกษาตอนต้น 34.15% มัธยมศึกษาตอนปลาย 16.02% ปวช. 12.56% ปวส./อนุปริญญา 18.71% ปริญญาตรี และ 1.19% สูงกว่าปริญญาตรี
- ภูมิภาค เยาวชน 14.25% อยู่ใน กทม. ปริมณฑล 18.30% ภาคเหนือ 13.58% ภาคกลาง 7.76% ภาคตะวันออก 32.38% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 13.74% ภาคใต้
ไอเอฟดีโพลชี้ เรื่องที่เยาวชนไทยกังวล “เกี่ยวกับตนเองมากที่สุด” [pdf] ดาวน์โหลด