“ไอเอฟดีโพล” เรื่องความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองและความเชื่อมั่นต่อระบบการเมืองไทย

ศูนย์โพลและสํารวจไอเอฟดี สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) เปิดเผยผลสํารวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองและความเชื่อมั่นต่อระบบการเมืองไทย”

1-final-Press-R-IFD-POLL-1-2023-OCt-1-1

2-final-IFD-POLL-Report-_1-2023-OCt-1-1

ผมวิเคราะห์จากผลสำรวจไอเอฟดีโพล เรื่อง “ความเชื่อมั่น/ศรัทธาต่อพรรคการเมืองและความเชื่อมั่นต่อระบบการเมืองไทย”  ที่พบว่า “ประชาชนมีความเชื่อมั่นสูงต่อพรรคการเมือง ถึงร้อยละ 68.75 (เชื่อระดับมากและมากที่สุด)” แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่า “ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่ำต่อระบบการเมืองไทย ถึงร้อยละ 80.09  (เชื่อมั่นระดับปานกลาง น้อย และไม่เชื่อมั่นเลย)”  

ผมวิเคราะห์ผลจากการสำรวจเป็น   3 ส่วน คือ 1) วิเคราะห์ผล: ประชาชนมีความเชื่อมั่นสูงต่อพรรคการเมือง 2) วิเคราะห์ผล: ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่ำต่อระบบการเมืองไทย และ 3) นัยยะของการเมืองไทยในอนาคต ดังนี้

ส่วนที่ 1 วิเคราะห์ผล: ประชาชนมีความเชื่อมั่นสูงต่อพรรคการเมือง

  ผมวิเคราะห์ว่า มี 6 องค์ประกอบสำคัญ ที่มีผลทำให้ประชาชนเชื่อมั่น/ศรัทธาต่อพรรคการเมืองสูง คือ 

  1. “กระแส” ปัจจัยขับเคลื่อนความเชื่อมั่นต่อพรรค กระแสคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มีพลังขับเคลื่อนให้เกิดความเชื่อมั่นในพรรคการเมือง กระแสมีหลายรูปแบบ อาจเป็นกระแสระดับชาติ กระแสในระดับพื้นที่เฉพาะเจาะจง หรือกระแสเฉพาะกลุ่ม ฯลฯ ตัวอย่างเช่น พรรคประชาชาติมีกระแสความคิดความเชื่อในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นกระแสเจาะจงในพื้นที่ หรือพรรคก้าวไกลมีกระแสความนิยมในระดับชาติ เป็นต้น   
  2. นโยบายของพรรคที่โดนใจกลุ่มคนต่าง ๆ นโยบายที่โดนใจประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ อย่างเจาะจง จะเป็นปัจจัยในการสร้างความนิยมของประชาชน โดยบางพรรคออกนโยบายพุ่งเป้าไปกลุ่มคนอายุน้อย กลุ่มคนสูงวัย กลุ่ม LGBTQ หรือบางพรรคเน้นนโยบายที่มุ่งไปที่พื้นที่เจาะจง ฯลฯ และพรรคที่สามารถออกนโยบายที่โดนใจประชาชนในหลายกลุ่ม จะยิ่งส่งผลให้พรรคนั้นได้รับความนิยมจากกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งรวมเข้าด้วยกันจนเป็นความนิยมจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จำนวนมากได้   
  3. หัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคเป็นหัวใจสร้างความนิยม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าพรรค  ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำคนในพรรคและทำให้ประชาชนสนใจเข้าร่วมองคาพยพด้วยกัน ซึ่งหากหัวหน้าพรรคและแกนนำมีความรู้ความสามารถ มีลักษณะบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือ และยิ่งหากมีทักษะการสื่อสารสูงผ่านช่องทางต่าง ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ ยิ่งมีพลังในการสร้างความนิยมให้กับพรรคได้อย่างมาก  
  4. ผลสัมฤทธิ์หรือผลงานเชิงประจักษ์ในอดีต พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาก่อน ย่อมจะได้เปรียบกว่าพรรคการเมืองหน้าใหม่ เพราะมีระยะเวลาทำงานการเมืองมานานกว่า มีผลงานที่สร้างไว้ในอดีต ทำให้ได้คะแนนความนิยมจากส่วนนี้เพิ่มด้วย 
  5. การคาดการณ์อนาคตได้ หากประชาชนเชื่อว่าพรรคที่ตนเลือก สามารถทำตามสิ่งที่พูดหรือทำให้นโยบายที่หาเสียงไว้ได้สำเร็จ โดยมีการดำเนินการอย่างมุ่งมั่นจริงจังที่จะทำให้เกิดอนาคตตามที่พรรคการเมืองได้ฉายภาพไว้ หากประชาชนเชื่อว่าจะทำได้จริง ย่อมเป็นปัจจัยเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนต่อพรรคการเมืองนั้น
  6. ความสามารถเชิงบริหารจัดการ ประชาชนจะเห็นจากตัวแสดงที่มีบทบาทหลักของพรรคว่า จะสามารถบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนให้นโยบายหรือสิ่งที่พูดไว้ให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่   ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการ   การประสานงานทั้งภายใน-ภายนอกพรรค รวมถึงการบริหารมวลชน ฯลฯ เพราะหากทำได้ย่อมเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนต่อพรรคการเมืองนั้น  

องค์ประกอบทั้ง 6 ประการ จะมีลักษณะผสมผสานกันมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปในแต่ละพรรค  ที่จะส่งผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อพรรคต่าง ๆ 

ส่วนที่ 2 วิเคราะห์ผล: ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่ำต่อระบบการเมืองไทย 

 ในความคิดเห็นของผม ระบบการเมืองที่ดี จำเป็นต้องลักษณะสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) มีความสามารถในการทำนายได้ (Predictability) และ 2) มีความมั่นคงเสถียรภาพ (Political Stability) ซึ่งจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการเมือง ซึ่งผมวิเคราะห์ 7 องค์ประกอบที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นต่ำต่อระบบการเมืองไทย ดังนี้ 

  1. การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา ใช้เวลาเกือบ 4 เดือน เป็นตัวส่งสัญญาณว่ามีปัญหาในระบบการเมืองไทยอย่างเห็นชัดเจน ส่งผลทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการเมืองไทย  
  2. ความไม่เชื่อมั่นในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นฉบับที่คนในสังคมตั้งคำถามและข้อสงสัยที่ทำให้ไม่มั่นใจ เช่น การใช้อำนาจขององค์กรอิสระ  บทบาท อำนาจและที่มาของวุฒิสภา การไม่มีกระบวนการในการให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือหน่วยงานรัฐอื่นเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของตุลาการในการตัดสินเรื่องต่าง ๆ ได้ ฯลฯ ซึ่งจะเข้ามาแทรกแซงการจัดการเลือกตั้ง การรับรองผลการเลือกตั้ง การพิจารณาข้อร้องเรียนต่าง ๆ กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรี รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ประชาชนรู้สึกการลงคะแนนเสียงของตนจะไม่สามารถทำนายได้หรือคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นได้ 
  3. วุฒิสภามีอำนาจและบทบาทสูงในการจัดตั้งรัฐบาล ที่ผ่านมาสมาชิกวุฒิสภามีบทบาทอย่างมากในการเลือกนายกรัฐมนตรี และส่งสัญญาณว่าพรรคไหนมีโอกาสหรือไม่มีโอกาสจะเป็นรัฐบาล จึงเป็นเหตุทำให้ประชาชนไม่มั่นใจระบบการเมือง เพราะไม่สามารถคาดการณ์หรือทำนายผลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้ง ๆ ที่ประชาชนเป็นผู้เลือก ส.ส.  แต่กลับขึ้นกับการตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภา  
  4. การถูกแทรกแซงโดยอำนาจทางนิติกฎกติกา จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้กฎหมายกฎกติกาตั้งแต่ระดับใหญ่คือรัฐธรรมนูญลงมาถึงระดับย่อย เช่น กฎหมายการเลือกตั้งจนกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา เช่น ประเด็นการเสนอชื่อผู้ที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ส่งผลให้ประชาชนไม่มั่นใจว่าหน้าตาของรัฐบาลหรือแนวทางดำเนินการทางการเมืองจะได้มาจากการลงคะแนนเลือก แต่ยังมีประเด็นกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ เข้ามาแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
  5. ประชาชนไม่เชื่อมั่นในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ  ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฯลฯ เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากในการตัดสินประเด็นทางการเมือง ที่มีผลสูงต่อการกำหนดหน้าตาของรัฐบาล การพิจารณาคดีต่าง ๆ ฯลฯ โดยประชาชนไม่แน่ใจว่าจะสามารถคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นผ่านการเลือกตั้งได้ เพราะต้องมีส่วนการตัดสินขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้อง 
  6. ทิศทางของพรรคและประเทศชาติถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจเหนือพรรคเพียงไม่กี่คน พรรคการเมืองจะมีผู้มีอำนาจเหนือพรรคหรือที่เรียกว่าเจ้าของพรรค การกำหนดวาระหรือทิศทางของประเทศจะเกิดจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เป็นเจ้าของพรรคมานั่งตกลงกัน โดยมักไม่ยึดโยงกับเสียงของประชาชนผ่าน ส.ส. ที่เป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง ส่งผลให้ประชาชนไม่แน่ใจในทิศทางทางการเมืองและทิศทางประเทศ เพราะขึ้นกับคนบางกลุ่มที่คุมอำนาจอยู่  
  7. การสร้างความนิยมโดยใช้ “นโยบายประชานิยม” มากกว่า “ผลประโยชน์ประเทศ”  ต้องยอมรับว่าการเมืองไทยใช้นโยบายประชานิยมในการแย่งชิงฐานเสียงประชาชน โดยแทบจะไม่ต้องกล่าวถึงการใช้เหตุ/ใช้ผลและผลประโยชน์ของชาติ แต่ขึ้นกับว่าพรรคนั้นจะใช้นโยบายประชานิยมที่ลดแลกแจกแถมแบบใดที่โดนใจคนจำนวนมากได้  สภาพการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการเมืองไทยที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ  

ส่วนที่ 3 นัยยะต่อการเมืองไทยในอนาคต  

ผมวิเคราะห์ผลสำรวจของไอเอฟดีโพล ทั้งประเด็นที่ประชาชนเชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองถึง ร้อยละ 68.75 และไม่เชื่อมั่นต่อระบบการเมืองไทยถึง ร้อยละ 80.09 ดังข้างต้น มาวิเคราะห์ร่วมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และมองไปในอนาคต ผมคิดว่าจะมีนัยยะต่อการเมืองไทยในอนาคตไว้ 11 ประเด็น คือ 

  1. การเกิดสงครามระหว่างวัย จากผลสำรวจ พบว่ามี 2 กลุ่มวัย ที่มีความเชื่อต่อพรรคและความเชื่อต่อระบบการเมืองที่แตกต่างกันชัดเจน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือ กลุ่มประชาชนช่วงอายุ 18-25 ปี  26-35 ปี และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มคนสูงวัย ช่วงอายุ 46-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป (ส่วนคนในช่วงอายุอื่นจะอยู่กลาง ๆ คละกันไป) นั่นหมายถึงการต่อสู้ทางการเมืองในอนาคตจะเป็นการต่อสู้ระหว่างวัย จนกว่าจะมีการแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องจัดการไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม เช่น พัฒนาเยาวชนในการทำงานร่วมกับกลุ่มคนต่างวัย รับฟังผู้ใหญ่ และมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนากลุ่มคนสูงวัยให้ฟังเยาวชน เพื่อพูดคุยกันแบบฉันมิตร เป็นต้น
  2. เปิดสมรภูมิรบไอโอเต็มรูปแบบ การใช้ IO (Information Operation) หรือปฏิบัติการข่าวสารที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ จิตวิทยามวลชน การปล่อยข้อมูล/ข่าวแบบบิดเบือน/ลับ/ลวง ฯลฯ ซึ่งมีผลมหาศาลต่อความเชื่อมั่น/ไม่เชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองและระบบการเมืองไทยในอนาคต จากการเลือกตั้งที่ผ่านได้เห็นการใช้ไอโอในช่องทางและรูปแบบต่าง ๆ จำนวนมาก และจากนี้ไปการดำเนินงานทางการเมือง จะเป็นการสู้กันด้วยไอโอกันอย่างหนักที่ทุกฝ่ายต่างปรับตัวและเตรียมพร้อมต่อสู้ในสงครามไอโอ
  3. พรรคใหม่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีจุดกระชาก พรรคที่จะเกิดใหม่และสร้างกระแสความนิยมได้ จำเป็นต้องมี ”จุดกระชากเปลี่ยน” จากปทัศสถานเดิมของสังคม จึงจะทำให้ประชาชนสามารถจดจำและแยกแยะพรรคการเมืองใหม่ออกจากตลาดพรรคการเมืองอื่น ๆ ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะได้เป็นรัฐบาล เพราะการเป็นรัฐบาลได้ยังมีอีกหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องดังที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้น 
  4. การใช้นโยบายประชานิยมจะแรงขึ้นในการเลือกตั้งหน้า  จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาและสถานการณ์ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีการต่อสู้กันด้วยการใช้นโยบายประชานิยมอย่างเต็มที่ ในสายตาผมเห็นว่าวันนี้ประเทศไทยเป็นโรคเสพติดประชานิยมในประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว และยากที่จะถอนตัวซึ่งอาจเกิดการลงแดงได้ ซึ่งผมประเมินว่า ในการเลือกตั้งรอบหน้าจะใช้นโยบายประชานิยมมากขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างมาก  
  5. การใช้ “กระแสความนิยม” มากกว่า “กระสุน (เงิน)” ที่ผ่านมาบ้านใหญ่ในพื้นที่ต่าง ๆ มีการใช้เงินที่เรียกว่ากระสุน แต่จะมีอีกกลุ่มการเมืองที่ไม่ใช้กระสุนโดยตรง แต่เป็นการใช้กระแสความนิยมถึงกระนั้นกระแสยังคงต้องใช้กระสุนเงินในการปั่นกระแสความนิยม ดังนั้นเงินจึงยังเป็นใหญ่อยู่ โดยจะไม่มีพรรคการเมืองที่ไม่ใช้เงิน เพียงแต่การใช้เงินจะเอียงไปใช้การสร้างกระแสมากขึ้น และการใช้กระสุนตรงจะน้อยลง แต่ยังคงเป็นการผสมกันทั้งกระแสและกระสุนพรรคนั้นจึงจะชนะได้   
  6. การเดินขบวนบนถนนจะลดลง “เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์” ไม่ใช่ “เพื่อการเปลี่ยนแปลง” การเดินขบวนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะลดลง เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่าการเดินขบวนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยาก ใช้ไม่ได้ผลมากนักดังเช่นในอดีต อีกทั้งจะยิ่งนำพาไปสู่การรัฐประหาร โดยจากนี้ไปการเดินถนนจะยังคงมีอยู่แต่จะลดลง ซึ่งจะเป็นเพียงการส่งสัญญาณความไม่พอใจ หรือการเสนอความต้องการบางอย่าง แต่จะไม่ถึงขั้นแตกหัก/ใช้ความรุนแรง (ยกเว้นในช่วงวิกฤตหรือสถานการณ์สุกงอมทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านบางอย่าง อาจเกิดขึ้นได้) 
  7. คุณภาพนักการเมืองจะดีขึ้นเพียงเล็กน้อย  ในอนาคตคุณภาพนักการเมืองจะมีลักษณะคล้ายเดิม ภาคการเมืองจะได้คนคุณภาพปานกลางหรือประมาณค่าเฉลี่ยดังเช่นในปัจจุบัน แต่แทบจะไม่ได้คนเก่งและดีที่มีคุณคุณภาพสูงเข้ามา เนื่องจากความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการเมืองยังต่ำ  (ทั้งนี้อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณีที่อาจมีคนเก่งเข้ามาได้บ้าง)  
  8. องค์กรอิสระไม่เป็นทึ่พึ่ง/ที่คาดหวังของประชาชน องค์กรอิสระส่วนใหญ่จะ“ทำงานเชิงรับ” มากกว่า “ทำงานเชิงรุก” และอาจถูกแทรกแซงจากบางพรรคการเมืองหรือบางกลุ่มคน ส่งผลให้มีความไม่เป็นกลางได้ ประชาชนจึงไม่ไว้วางใจและคาดหวังการทำงานขององค์กรเหล่านี้    (ในสภาพที่ยังไม่มีการปฏิรูปหรือแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน)
  9. การสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่ดีสู่คนรุ่นถัดไป  วัฒนธรรมการเมืองมีผลอย่างยิ่งต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในทางการเมืองของไทยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในด้านอุดมการณ์ การมีความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติต่อการเมือง การมีความผูกพันต่อระบบการเมืองในการเรียกร้องหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมและพัฒนาทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ หากพรรคการเมืองใดมีการวางรากฐานด้านวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดี จะส่งผลให้เกิดความนิยมและความเชื่อมั่นต่อพรรคเพิ่มขึ้น   
  10. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยอาจไม่รุ่งโรจน์ หากวิเคราะห์จากผลโพลไอเอฟดีที่ประชาชนเชื่อมั่นในพรรค แต่ไม่เชื่อมั่นในระบบการเมือง และพิจารณาจากนโยบายเศรษฐกิจโดยรวมของทุกพรรคเอามาพิจารณาร่วมกัน จะเห็นได้ว่านโยบายส่วนใหญ่เป็นประชานิยมลดแลกแจกแถม เพื่อสู้กันให้ชนะเลือกตั้ง ซึ่งถ้าปล่อยไปเช่นนี้  เศรษฐกิจไทยที่ฝันหวานว่าจะเจริญรุ่งเรืองคงจะเป็นไปได้ยากมาก 
  11. พรรคการเมืองจะปะทะกันเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง  จากผลสำรวจพบว่าจะมีกลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างกันชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยที่แตกต่างทางความคิด และเนื่องจากไทยเป็นวัฒนธรรมที่ปะทะกัน แต่ไม่ใช่วัฒนธรรมที่คุยกันได้  ส่งผลให้เกิดการปะทะกันทางการเมืองของกลุ่มพรรคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ      โดยมีการให้ข่าวไปยังสำนักข่าวต่าง ๆ โดยมีการปะทะกันทางการเมืองในทุกวันทุกสัปดาห์ที่ไม่ใช่เฉพาะฤดูเลือกตั้ง 

ท้ายสุดนี้ คงต้องเฝ้าติดตามว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ จะสามารถครองใจประชาชนต่อไปได้หรือไม่ และระบบการเมืองไทยจะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายที่ต้องเฝ้าจับตามอง 

Leave A Reply

Your email address will not be published.